สีสันพันเผ่า ผู้ประกอบการวัยเก๋าที่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้สัญชาติ กับการโกออนไลน์สู้วิกฤติการท่องเที่ยว
วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีนั้น ตรงกับวันโทรคมนาคมและสังคมสารสนเทศโลก (World Telecommunication and Information Society Day) ในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ ‘healthy ageing’ หรือการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะนั้นเป็นธีมประจำปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงบทบาทของเทคโนโลยีโทรคมนาคมในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้คนสามารถก้าวสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และพึ่งพาตัวเองได้ทั้งกาย ใจ และในด้านรายได้ อันเป็นหัวใจในการสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข
จุดมุ่งหมายนี้สอดคล้องกับภารกิจของดีแทค ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สังคมไทยด้วยพลังแห่งการเชื่อมต่อ และการสร้างสังคมดิจิทัลที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมา เรามีการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับกลุ่มคนเปราะบางต่างๆ รวมถึงผู้สูงวัย ในโอกาสพิเศษนี้ เราจึงขอชวนทุกท่านไปติดตามเรื่องราวของ อาภา หน่อตา ผู้ประกอบการวัยเก๋าชาวเชียงรายจากโครงการดีแทค เน็ตทำกิน และผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจเพื่อสังคมที่ใช้สีสันและลวดลายงดงามของเครื่องแต่งกายชนเผ่า ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มสตรีในชุมชนชาติพันธุ์
ปัญหาทับซ้อนของแม่สาย
ย้อนกลับไปเดือนมิถุนายน 2561 ประเทศไทยกลายเป็นที่จับตาของคนทั้งโลก เมื่อเกิดเหตุผู้ช่วยฝึกสอนและนักฟุตบอลเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี จำนวน 13 ชีวิต ได้เข้าไปสำรวจถ้ำและหายตัวไปในถ้ำหลวง ภายในอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหตุการณ์ดังกล่าวตราตรึงคนทั้งโลกจนได้รับการขนานนามว่า “Thailand’s Miracle Cave Rescue”
หากจำกันได้ ภายหลังปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงสำเร็จลุล่วง อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนจากภารกิจช่วยเหลือดังกล่าวคือปัญหาคนไร้สัญชาติ เนื่องจากโค้ชทีมหมูป่าและนักฟุตบอลของทีมบางคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไทย แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้รับสัญชาติไทย
แม่สาย เป็นอำเภอที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของเมียนมา โดยมีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดนกั้นระหว่างสองประเทศ ชาวไทยและชาวเมียนมาเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี (ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารของพม่าในปี 2564) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ อ.แม่สายมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง แต่พื้นที่ดังกล่าวก็รายล้อมด้วยปัญหาทางสังคมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด แรงงานอพยพ คนไร้สัญชาติ และการค้ามนุษย์
“เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ด้วยความได้เปรียบทางกายภาพของแม่สายที่เป็นเมืองติดชายแดน มีการค้าการลงทุนสูง ทำให้ปัญหาที่ตามมาคือการค้าบริการทางเพศและหลบหนีเข้าเมือง ผู้ชายต้องการเข้ามาใช้แรงงาน ส่วนผู้หญิงจะเข้ามาทำงานบริการ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนหนึ่งต้องการมาให้บริการทางเพศ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หญิงท้องถิ่นบางส่วนก็ตกอยู่ในวงจรนี้ด้วย นำไปสู่ความท้าทายด้านสิทธิของผู้หญิงบริการเหล่านี้” อาภา หน่อตา หรือ ปอม อายุ 51 ปี อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เพื่อพนักงานบริการ ซึ่งปัจจุบันได้ปิดทำการสาขาเชียงรายไปแล้ว อธิบายปัญหาที่มาพร้อมกับความเจริญของเมือง
ด้วยการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามชาติในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะการอพยพหนีจากความยากจน ทำให้แม่สายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาเหล่านี้เข้าไม่ถึงสิทธิในมิติต่างๆ ทั้งความยุติธรรม การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
ความยากจนคือรากของปัญหา
ตลอดระยะการทำงานภาคประชาสังคมทั่วทั้งเชียงรายของอาภา เธอตระหนักชัดถึงรากฐานของปัญหาสังคม นั่นคือปัญหาเรื่องปากท้องและการเลี้ยงชีพ กล่าวคือ ทุกคนต่างต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งคนท้องถิ่นเดิมที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกใบยาสูบและข้าวโพดเป็นหลัก รวมไปถึงแรงงานอพยพจำนวนมากที่ต่างใช้แม่สายเป็นทางผ่าน
ในระหว่างที่อาภาทำงานภาคประชาสังคม อีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้เธอ ก็คือการออกแบบและขายเสื้อผ้าชาวไทยภูเขาและชนพื้นเมืองในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ ตัวอย่างเช่น ม้ง กะเหรี่ยง ปวาเกอะญอ อาข่า เมี่ยน ลาหู่ ดาราอ้าง และคะฉิ่น อันเป็นทักษะที่เธอเรียนรู้มาแต่เด็กจากคุณน้าของเธอ โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นธุรกิจที่มีช่องทางขายแบบหน้าร้านเพียงอย่างเดียวและพุ่งเป้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว
“การทำงานกับผู้คนจากหลายชาติพันธุ์ ทำให้เราเห็นว่าการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ น่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่า จึงได้สอนและจ้างหญิงชาติพันธุ์ มาทำงานเย็บปักถักร้อย สร้างอาชีพให้พวกเขาได้” อาภา เล่า
จากรุ่งสู่ร่วง
ขณะที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ดี อาภาก็ต้องเผชิญกับพายุโหมกระหน่ำอย่างไม่ทันตั้งตัวจากทั้งวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ส่งผลให้ด่านพรมแดนแม่สายปิดมายาวนานกว่า 2 ปีเต็ม จนยอดนักท่องเที่ยววันละหลายพันคนลดลงเหลือศูนย์ และธุรกิจของเธอนั้นขาดรายได้ พร้อมๆ กับที่มูลนิธิซึ่งเธอทำงานประจำอยู่ก็ปิดทำการสาขาเชียงรายลง อาภาจึงตัดสินใจ “โกออนไลน์”
“แรก ๆ ก็ตั้งเพจเอง ไหว้วานให้เด็ก ๆ ที่รู้จักกันช่วย ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่วันหนึ่ง ก็เห็นข่าวดีแทคเปิดโครงการเน็ตทำกิน ผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ ก็เลยลองสมัครไปดู แล้วก็ได้รับการคัดเลือก เลยไปอบรมกับโค้ชของดีแทคหนึ่งวัน ซึ่งขอบอกเลยว่าเทคนิคเพียบ และที่สำคัญ คนสอนใจเย็นมาก” เธอ กล่าว ก่อนจะเสริมต่อว่า “พออบรมเสร็จแล้วก็คิดว่าจบกันไป แต่กับโครงการนี้ไม่ใช่ ไอซ์ (หนึ่งในโค้ชของโครงการ) มาช่วยสอนถึงที่ ให้ความเอาใจใส่ อธิบายจนกว่าจะทำเป็น ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ผู้ประกอบการวัยเก๋าต้องการ”
ปัจจุบัน เธอยังคงเดินหน้าทำงานกับภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ดำเนินการศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์สตรีนานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้และอาชีพให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทั้งการทำอาหาร การตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเพื่อสังคมในชื่อ ‘ร้านสีสันพันเผ่า’
“ขอบคุณดีแทค เน็ตทำกินมากๆ ความรู้ที่ได้รับนั้น เราได้นำไปถ่ายทอดให้กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิก เช่น การถ่ายภาพ การสร้างเพจ และการทำคอนเทนต์ จริง ๆ การขายออนไลน์นั้นทำได้ไม่ยาก แต่ต้องทำอย่างจริงจัง เชื่อมั่นในตัวเอง อยากให้ลองเปิดใจมาทำ แล้วจะรู้ว่าการขายของบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่วัยเก๋า วัยผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้ไม่ต่างกัน” อาภา กล่าวทิ้งท้าย