web analytics

ติดต่อเรา

เมดพาร์คและองค์กรพันธมิตร อาสาดูแลหัวใจหมอ

ครั้งแรกในประเทศไทยที่แพทย์จะเข้าร่วมอาสาดูแลหัวใจแพทย์ โดย โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “อาสาดูแลหัวใจหมอ (Save Doctors’ Heart)” ในงานแถลงข่าว ณ ห้อง Forum ชั้น M โรงพยาบา­­ลเมดพาร์ค โดยโครงการนี้เปิดโอกาสให้แพทย์ไทยสามารถเข้ารับการการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ และให้การรักษาหากตรวจพบ ที่ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาโครงการทั้งหมด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 12 สิงหาคม 2565

จากการรวบรวมข้อมูลของแพทยสภา จำนวนแพทย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีจำนวน 297 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคที่ไม่ระบุสาเหตุโรคชัดเจน ถึง 60% (เฉพาะที่ระบุว่าเกิดจากโรคหัวใจ 10%) ทั้งนี้ มีแพทย์ที่เสียชีวิตโดยมีอายุน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยถึง 118 คนคิดเป็น 40% ของแพทย์ผู้เสียชีวิตทั้งหมด (อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพศชาย 73 ปี และเพศหญิง 77 ปี) โดยแพทย์ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ​อายุน้อยที่สุดในรายงานมีอายุเพียง 31 ปี

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ในปัจจุบัน อัตราส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับภาระงานที่ต้องทำแต่ละวัน เราเห็นได้ว่าแพทย์ที่ยังปฏิบัติงาน 40,000 คน ต้องตรวจผู้ป่วยนอกท่านละ 10,000 คนต่อปี และดูแลผู้ป่วยในอีกประมาณ 250 คนต่อปี  หากหายไปหนึ่งท่าน ปริมาณงานในการรักษาก็จะแบ่งถ่ายไปอยู่กับคนที่เหลือ ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติหรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างเช่นโรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้แพทย์มีภาระงานมาก มีเวลาใส่ใจตัวเองน้อย ไม่ได้ดูแลและตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจ ทำให้เมื่อมีภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นมาแล้วไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน แม้ว่าจะเกิดเหตุภายในโรงพยาบาลก็ตาม  ทำให้เราพบแพทย์ที่อายุไม่มากเสียชีวิต การสูญเสียเช่นนี้ถือเป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์คได้ริเริ่มแคมเปญ Save Doctors, Save People, Save Thailand ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราเร่งทำการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อรักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ได้เร็ว และมากที่สุด และในปีนี้ทางโรงพยาบาลก็มีความภูมิใจที่ได้เปิดตัวโครงการเพื่อสังคมใหญ่อีกโครงการหนึ่งภายใต้ชื่อ ‘อาสาดูแลหัวใจหมอ’ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกชีวิตของแพทย์ที่เราช่วยเหลือจะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้อีกหลายหมื่นคน

ภายในงานได้มีการนำเสนอรายละเอียดของโครงการและศักยภาพรวมถึงความพร้อมของศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดย ศาสตราธิคุณ นายแพทย์วสันต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจ และ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ด้วยโรงพยาบาลเมดพาร์คมีความพร้อมในการรักษาโรคหัวใจที่มีความซับซ้อน ทั้งในส่วนของแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจทุกสาขา รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง โรงพยาบาลเมดพาร์คเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงริเริ่มโครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ” ขึ้น อันจะมีส่วนร่วมพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพของแพทย์ในประเทศไทยให้มีอายุยืน และ สุขภาพดี เพื่อให้แพทย์เหล่านั้นสามารถดูแลประชาชนต่อไปได้อีกมากเพราะโดยปกติอาชีพแพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้แม้จะมีอายุมากเกินเกณฑ์เกษียณแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีเสวนาเจาะลึก ภายใต้หัวข้อ Heart Attack รู้ทัน ป้องกันได้: ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ ภัยเงียบร้ายแรงไร้สัญญาณเตือน โดยมี นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจและทรวงอก นายแพทย์ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด และ แพทย์หญิงจิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาแบ่งปันข้อมูลความรู้เรื่องโรคหัวใจ 

นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดหัวใจและทรวงอก กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวายเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตัน ซึ่งมีสาเหตุอยู่ที่การเสื่อมของเส้นเลือดที่ปกติจะมีการเสื่อมถอยตามวัย และมีปัจจัยเสี่ยงที่มีทั้งควบคุมได้ เช่นพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงความเครียด และความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่นผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง คนอายุเยอะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า และกรรมพันธุ์ที่อาจถ่ายทอดทางครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้

นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาเป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติทำให้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากโรคหัวใจชนิดนี้ในคนที่มีอายุน้อย สำหรับผู้ที่มียีนส์ที่ผิดปกติที่ทำให้มีระดับโคเลสเตอรอลสูงมาก มีโอกาสทำให้เส้นเลือดตีบเร็วกว่าวัย ควรเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ควบคุมน้ำหนัก (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30) งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีกากใยเยอะ หากทำได้ตามนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลง

พญ.จิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า อยากเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการฟื้นฟูหัวใจด้วยการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกท่าน เนื่องจากมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการออกกำลังกายสามารถที่จะลดโอกาสในการกลับมานอนโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยทุกท่านได้ ทั้งยังมีความปลอดภัยหากผู้ป่วยได้รับการประเมินและคำแนะนำที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

]

แพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของโครงการ ‘อาสาดูแลหัวใจหมอ’ และลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://medpark.hospital/DoctorsHeartProject

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ แผนกศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค โทร.0-2090-3104 เวลาทำการ 08.00 – 20.00 น.

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *