โตโยต้า แจงตลาดรถยนต์พฤศจิกายนเริ่มมีสัญญาณบวก ยอดขายรวม 71,716 คัน หดตัวลดลง 9.4%
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในทุกเซ็กเมนท์ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 71,716 คัน แต่มีอัตราการหดตัวที่ลดลงเพียง 9.4% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 23,793 คัน ลดลง 6.5% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 47,923 คัน ลดลง 10.8% ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 38,550 คัน ลดลง 9.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2564 มีปริมาณการขาย 71,716 คัน ลดลง 9.4% โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 6.5% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้บริโภคยังคงชะลอการตัดสินใจซื้อ และรัดกุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรอจังหวะการใช้จ่ายที่เหมาะสม
ตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจต่างๆ และประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับในสภาวะปกติ ทั้งนี้ยังเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว โดยสถานการณ์ตลาดรถยนต์จะขยับตัวดีขึ้น สืบเนื่องจากทุกค่ายรถยนต์ต่างแข่งขันกันนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการขายในช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 38 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากถึง 1,151,540 คน และยอดจองรถยนต์ในงานมากถึง 31,583 คัน ไม่นับรวมยอดจองรถยนต์ตามโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายทุกยี่ห้อทั่วประเทศ ภายใต้ข้อเสนอพิเศษ “เงื่อนไขเดียวกับมอเตอร์โชว์” เป็นตัวกระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของลูกค้าได้อย่างสัมฤทธิ์ผล แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เป็นปัจจัยลบต่อสถานการณ์ตลาดรถยนต์และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ต้องจับตามองต่อไป
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนพฤศจิกายน 2564
1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 71,716 คัน ลดลง 9.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 โตโยต้า 23,168 คัน ลดลง 18.1% ส่วนแบ่งตลาด 32.3%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 18,419 คัน เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนแบ่งตลาด 25.7%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 8,624 คัน ลดลง 3.2% ส่วนแบ่งตลาด 12.0%
2.ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 23,793 คัน ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 ฮอนด้า 8,062 คัน เพิ่มขึ้น 9.3% ส่วนแบ่งตลาด 33.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 6,304 คัน ลดลง 15.0% ส่วนแบ่งตลาด 26.5%
อันดับที่ 3 ซูซูกิ 2,242 คัน เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.4%
3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 47,923 คัน ลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 18,419 คัน เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนแบ่งตลาด 38.4%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 16,864 คัน ลดลง 19.2% ส่วนแบ่งตลาด 35.2%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,859 คัน ลดลง 13.5% ส่วนแบ่งตลาด 6.0%
4.ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และรถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 38,550 คัน ลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 16,956 คัน เพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนแบ่งตลาด 44.0%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 14,888 คัน ลดลง 14.0% ส่วนแบ่งตลาด 38.6%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,859 คัน ลดลง 13.5% ส่วนแบ่งตลาด 7.4%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 5,410 คัน โตโยต้า 2,338 คัน – อีซูซุ 1,734 คัน – มิตซูบิชิ 651 คัน – ฟอร์ด 482 คัน – นิสสัน 205 คัน
5.ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 33,140 คัน ลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 15,222 คัน ลดลง 1.6% ส่วนแบ่งตลาด 45.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 12,550 คัน ลดลง 13.7% ส่วนแบ่งตลาด 37.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,377 คัน ลดลง 16.3% ส่วนแบ่งตลาด 7.2%
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564
1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 668,109 คัน ลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 โตโยต้า 212,573 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนแบ่งตลาด 31.8%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 165,359 คัน เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนแบ่งตลาด 24.8%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 77,136 คัน ลดลง 7.0% ส่วนแบ่งตลาด 11.5%
2.ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 219,883 คัน ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 ฮอนด้า 68,123 คัน ลดลง 1.3% ส่วนแบ่งตลาด 31.0%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 55,056 คัน ลดลง 7.2% ส่วนแบ่งตลาด 25.0%
อันดับที่ 3 มาสด้า 18,603 คัน ลดลง 12.9% ส่วนแบ่งตลาด 8.5%
3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 448,226 คัน ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 157,517 คัน เพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนแบ่งตลาด 35.1%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 165,359 คัน เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนแบ่งตลาด 36.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 28,212 คัน เพิ่มขึ้น 11.7% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
4.ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 350,691 คัน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 150,272 คัน เพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนแบ่งตลาด 42.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 134,768 คัน เพิ่มขึ้น 4.1% ส่วนแบ่งตลาด 38.4%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 28,212 คัน เพิ่มขึ้น 11.7% ส่วนแบ่งตลาด 8.0%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 45,744 คัน โตโยต้า 20,403 คัน – อีซูซุ 14,449 คัน – มิตซูบิชิ 5,747 คัน – ฟอร์ด 4,318 คัน – นิสสัน 827 คัน
5.ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 304,947 คัน ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับที่ 1 อีซูซุ 135,823 คัน ลดลง 4.1% ส่วนแบ่งตลาด 44.5%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 114,365 คัน เพิ่มขึ้น 1.7% ส่วนแบ่งตลาด 37.5%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 23,894 คัน เพิ่มขึ้น 15.0% ส่วนแบ่งตลาด 7.8%