“ทิพยประกันภัย” ผงาด! สวนกระแส ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ครึ่งปีกวาดเบี้ยทะลุ 1.3 หมื่นล้าน กำไรพุ่งเฉียด 19%
บมจ.ทิพยประกันภัย โชว์ผลงาน 6 เดือนแรกปี 2564 สุดแกร่ง! กำไรสุทธิกว่า 1,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.84% เบี้ยประกันภัยรับรวม 13,338 ล้านบาท ด้านผู้บริหาร “ดร.สมพร สืบถวิลกุล” ตอกย้ำนโยบาย “TIP Digital Insurance” เน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจหนุนผลงาน ทำให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้วิถี New Normal ได้สะดวกขึ้น พร้อมยืนยันอยู่เคียงข้างคนไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เสริมความแข็งแกร่งเดินหน้าผลักดัน “ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือน ก.ย.นี้ หวังขยายธุรกิจให้ครอบคลุมก้าวขึ้นเป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำในอาเซียน
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 1,250.88 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.08 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มี กำไรสุทธิรวม 1,052.57 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.75 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 198.31 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น 18.84%
โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บมจ.ทิพยประกันภัย สามารถทำเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 13,338.12 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 11,615.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,722.58 ล้านบาท หรือ 14.83% ประกอบด้วย เบี้ยประกันอัคคีภัย 1,119.90 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 245.37 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 2,718.98 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 9,253.87 ล้านบาท
ดร.สมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทิพยประกันภัย ได้ประกาศนโยบายสำคัญจะก้าวเป็นผู้นำตลาดประกันภัยในยุคดิจิทัล (TIP Digital Insurance) ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทสามารถปรับแผนการดำเนินงาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคภายใต้รูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯในการช่วยเหลือสังคมและอยู่เคียงข้างคนไทยไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ใด ๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ บมจ.ทิพยประกันภัย ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากขึ้น อาทิ การร่วมกับ “ทรูบิสิเนส” จัดแพคเกจสนับสนุน “SMEs ไทย สู้วิกฤตโควิด-19” ภายใต้แคมเปญ SMEs Go Online ด้วยแผนประกันภัยไซเบอร์ เสริมความมั่นใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับความคุ้มครองการถูกโจรกรรมเงินจากบัญชีส่วนตัวผ่านช่องทางออนไลน์ และการถูกฉ้อโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือการร่วมกับ ShopeePay มอบประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 คุ้มครองลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี เป็นต้น
ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับเป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของ “ทิพยประกันภัย” จึงได้จัดโครงการ “TIP ห่วงไทย สู้ภัยโควิด” เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนรับสิทธิฟรี เพื่อรับความคุ้มครองกรณีเกิดผลข้างเคียง ภาวะรุนแรงจากการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สูงสุดถึง 1 แสนบาท ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม มีผู้มาลงทะเบียนรับสิทธิกว่า 2,600,000 คน
สำหรับความคืบหน้าแผนการปรับโครงสร้างการบริหารงานในฐานะบริษัทโฮลดิ้งส์ นั้น ดร.สมพร กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ทั้งหมดของ TIP ด้วยการแลกหุ้นในอัตราส่วน หุ้น TIP 1 หุ้น ต่อ TIPH 1 หุ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 รวม 45 วันทำการ หลังจากนั้นจะนำหุ้นสามัญของ TIPH เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนหุ้นสามัญของ TIP ที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อย ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
“หลังจาก บมจ.ทิพยประกันภัย ปรับโครงสร้าง และยกฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ภายใต้ชื่อบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหารของบริษัทก็พร้อมจะเดินหน้านโยบายสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานที่มีความยืดหยุ่นและกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งและก้าวขึ้นเป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน” ดร.สมพร กล่าว