ใต้ร่มพระบารมีกษัตริย์ นักพัฒนา “น้ำ”
เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม 2563) กรมชลประทานขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการตลอดการครองราชย์กว่า 70 ปี เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงชนชาวไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
กรมชลประทาน ขอนำเสนอความทรงจำ กษัตริย์ นักพัฒนา “น้ำ” ที่สถิตในดวงใจของชาวชลประทานทุกคน ซึ่งเป็นประจักษ์ชัดว่าพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญา พัฒนาแหล่งน้ำทั่วแผ่นดินเพื่อนำความผาสุก และความมีเสถียรภาพมั่นคง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจสู่ประเทศไทยอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า
“ …หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี 2495-2560 จำนวน 3,336 โครงการ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดของพี่น้องเกษตรกรและพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค ประเภทอ่างเก็บน้ำและฝายทด
- อ่างเก็บน้ำน้ำลาย อำเภอเมือง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมชลประทานให้วางแผนโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูฝนและฤดูแล้ง มีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริจัดสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำลายสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม และอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่รับประโยชน์ 17,200 ไร่ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ ทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงดียิ่งขึ้น
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร รวมทั้งศึกษาการไหลของน้ำจากยอดเขาลงสู่พื้นล่างให้ได้ประโยชน์สูงสุด กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้ภายในศูนย์ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้จำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เชื่อมต่อกันด้วยท่อ AC รวมทั้งจัดสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ ภายในศูนย์ฯแห่งนี้ได้ริเริ่มก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ฝายก่อดินซีเมนต์” ซึ่งพัฒนามาจากฝายไม้ไผ่เดิม ทำให้ฝายรูปแบบใหม่นี้มีอายุการใช้งานนานขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในภาคเกษตร รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 6 แห่ง ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 34.80 ล้านหน่วยกิโลวัตต์-ชั่วโมง ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยในการหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทั้งการอุปโภค และบริโภคแล้ว น้ำยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตไฟฟ้า สร้างแสงสว่างให้คนไทยได้ใช้กันอย่างมีความสุขตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
- กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำจืด พร้อมกับการก่อสร้างระบบคลองระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และระบบกระจายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้ทุกวันนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้
โครงการบรรเทาอุทกภัย
- กรมชลประทานได้น้อมนำ “โครงการแก้มลิง ” หนึ่งในศาสตร์พระราชา มาแก้ปัญหาน้ำท่วม ในลุ่มน้ำยม-น่าน และเจ้าพระยา สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยม กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 69 แห่งในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ สามารถเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างดีแล้ว ยังมีแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน น้ำใช้ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรและอาชีพอื่น ๆ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศชาติและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้โดยเสด็จ ฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการชลประทานในแต่ละครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและนำความปลื้มปีติสู่ราษฎรในชนบทอันห่างไกลแล้ว ยังทำให้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ทำให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของ “น้ำ” ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับฐานะของราษฎรได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย อันเป็นการสานต่อพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น โครงการก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร
ที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติคือ คลองท่ากระจาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาให้แก่ชุมชน แต่เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบสูงและภูเขาสูง จึงประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ตามที่ราษฎรหมู่ 1 ตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ ที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริดำเนินการก่อสร้างฝายคลองท่ากระจาย ในพื้นที่ตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันฝายแห่งนี้สามารถเก็บกักน้ำได้ 150,000 ลบ.ม.ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคแล้วยังมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 700 ไร่ และมีน้ำดิบพร้อมผลิตน้ำประปาให้บริการแก่ประชาชนช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างดี
กรมชลประทานปฎิบัติงาน สืบสานและสนองพระราชดำริ ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงวางรากฐานไว้ เพื่อสร้างความผาสุก ร่มเย็น ให้แก่ราษฎรไทยทั่วทั้งแผ่นดิน