อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาไทยสู่สากล หลังรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพรไทยที่ปรากฏในตำรายากว่า 800 ชนิดไว้ในที่เดียว นับเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าต่อยอดบูรณาการองค์ความรู้ด้านสมุนไพรครบวงจร ปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพร สานต่อภูมิปัญญาไทย และเสริมความมั่นคงด้านยาของประเทศ
จาก “สวนสมุนไพร” สู่พื้นที่อนุรักษ์และอุทยานการเรียนรู้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สวนสมุนไพรแห่งนี้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับการศึกษา วิจัย พัฒนาและการเรียนรู้ โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ และเป็น “พื้นที่สีเขียว” ให้บุคลากรในพื้นที่วิทยาเขตศาลายา จนปัจจุบันได้รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุดถึงกว่า 800 ชนิด บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ เป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้สมุนไพร ผ่านกระบวนการอนุรักษ์ และประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย มุ่งหวังให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์และผู้จัดการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ประเทศไทยเรามีสมุนไพรดี ๆ จำนวนมาก เพราะตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น อีกทั้งคนไทยมีวัฒนธรรมการกินอาหารที่มีพืชผักสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ พืชสมุนไพรหลายอย่างจึงยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สมุนไพรไทยยังสามารถนำมาใช้ป้องกันและรักษาโรคได้”
ทั้งนี้ การนำสมุนไพรมาใช้ ต้องมีการวิจัย อย่างเช่น ขมิ้นชัน ถ้ามาจากแหล่งปลูกที่ต่างกัน ตัวยาก็ต่างกัน ดังนั้นในการทำยาสมุนไพรต่าง ๆ ต้องมีการควบคุมดูแลให้มีมาตรฐาน ควบคุมตั้งแต่การปลูก พื้นที่ ดิน น้ำ ปุ๋ย การดูแลบำรุงรักษา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตัวยาที่เท่าเทียมกัน
“ดังนั้น การวิจัยสมุนไพร จึงต้องเข้ามามีบทบาทการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสมุนไพร ตั้งแต่กระบวนการปลูก การดูแล และการผลิต เพื่อส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกร ในด้านการควบคุมดูแลคุณภาพสมุนไพร เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดี ผลงานวิจัยต่าง ๆ จึงควรนำมาพัฒนาต่อยอด ให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อเกษตรกร ดังนั้น เอกชน นักวิจัย เกษตรกร ต้องมาหาความร่วมมือกัน และผลักดันสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล” รศ. พร้อมจิต กล่าวเสริม
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มีสมุนไพรที่หาชมได้ยากหลายชนิด เช่น โมกราชินี สิรินธรวัลลี สามสิบกีบน้อย และจิกดง ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก รวมถึง มะลิซาไก อีกหนึ่งสมุนไพรหายากที่ใช้เป็นยาคุมกำเนิดของชนเผ่าซาไก กำแพงเจ็ดชั้น กวาวเครือขาว และกวาวเครือแดง สมุนไพรบำรุงกำลังของไทยที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในวงกว้าง รวมทั้งสมุนไพรที่เป็นพืชผักพื้นบ้านอีกหลากหลายชนิด
นายอำพล บุญเปล่ง ผู้ปฏิบัติงานการเกษตร อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ และรองแฟนพันธุ์แท้สมุนไพรไทย ปี 2008 เล่าว่า “ปัจจุบัน คนมีความสนใจในเรื่องสมุนไพรกันกันมากขึ้น แต่ถ้าหากเป็นคนที่มีความรู้อย่างเชี่ยวชาญ เป็นหมอยาพื้นบ้านแบบเก่งๆ นั้นมีเหลือน้อย เนื่องจากภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านหรือคนโบราณนั้นมีมาก แต่ขาดการจดบันทึก ใช้การบอกต่อและจดจำ ซึ่งทำให้ภูมิปัญญาเก่าแก่บางอย่างเลือนหายไป”
การแพทย์แผนไทยไม่ได้มีการรักษา แต่มีในแง่ป้องกันด้วย จึงตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพของคนยุคนี้ได้อย่างดี โดยคนในปัจจุบันตระหนักดีถึงมูลค่าการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น พร้อม ๆ กับเทคโนโลยีทางการแพทย์และเภสัชกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การป้องกันก่อนเกิดโรค จึงเป็นหัวใจหลักที่คนยุคนี้ให้ความสำคัญ และสมุนไพรก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ คนโบราณมีองค์ความรู้ด้านสมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นยาปรับธาตุ มีหลักการและทฤษฎีในการสร้างสมดุลในร่างกาย ช่วยให้แข็งแรง ไม่เกิดโรคได้ง่าย หากมีการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ในวงกว้าง สอดรับกับเทรนด์รักสุขภาพในระดับสากลที่กำลังมาแรง ก็จะเป็นการสืบสานภูมิปัญญาไทย เพิ่มมูลค่า และปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พืชสมุนไพรให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ และรักษาการผู้จัดการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ กล่าวถึงทิศทางของอุทยานฯ ในอนาคตว่า “เราตั้งเป้าให้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชสมุนไพรครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ปัจจุบันทางอุทยานฯ จะมีกิจกรรม นิทรรศการให้ความรู้ และศูนย์วิจัยสมุนไพรแล้ว แต่เราก็อยากจะบูรณาการองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยไปสู่สาขาวิชาอื่น ๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะเราเล็งเห็นว่า ในอนาคตผู้คนมีความรู้มากขึ้น ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และมองหาทางเลือกเพื่อการดูแลตัวเองมากขึ้นด้วย”
อุทยานฯ ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและดำเนินการ อาทิอาคารบ้านหมอยา ให้คำแนะนำในการส่งเสริมสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์ การใช้ยาสมุนไพร ให้บริการนวดรักษาแบบราชสำนัก อาคารใบไม้เดียว เป็นอาคารสาธิตการขยายพันธุ์และห้องปฏิบัติการสำหรับการอบรมการแปรรูปสมุนไพร และสาธิตทำอาหาร อาคารวิจัยและพิพิธภัณฑ์พืช ศูนย์อ้างอิงทางพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นทั้ง ห้องปฏิบัติการวิจัยการขยายพันธุ์พืช Gene Bank และการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์สมุนไพร และพิพิธภัณฑ์พืช ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ เป็นต้น ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี
“การอนุรักษ์ภูมิปัญญาสมุนไพร ที่จะทำให้คงอยู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน คือการทำให้คนในสังคมไทย รัก เข้าใจ และใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน อุทยานฯ ก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น คอร์สทำอาหารเพื่อสุขภาพ การปลูกพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ โดยเราคาดว่า ภายใน 2 ปีนี้ทุกอย่างก็น่าจะครบวงจรและเป็นรูปธรรมชัดเจน” รศ.ดร.ภก. สมภพ กล่าวทิ้งท้าย
Comments
comments