web analytics

ติดต่อเรา

DITP เตือนผู้ส่งออกอาหาร เตรียมพร้อมรับมือกฎระเบียบใหม่ FDA

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เตือนผู้ส่งออกสินค้าอาหารเข้าสหรัฐอเมริกา ศึกษาเรียนรู้ระเบียบใหม่ของ FDA ที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันอาหารที่ไม่ได้คุณภาพเข้าสู่ตลาด

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ประกาศว่ากำลังจัดทำกลยุทธ์ใหม่ที่จะเพิ่มการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าสำหรับมนุษย์และสัตว์ที่ด่านนำเข้าและที่สถานที่เก็บสินค้าอาหารในต่างประเทศ และการใช้อำนาจบังคับการเรียกเก็บสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ได้รับอันตรายจากสินค้าอาหารที่ถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา จะต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ Mr. Scott Gottlieb, FDA Commissioner และ Frank Yiannas, DeputyCommissioner for Food Policy and Response ได้ระบุว่า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าอาหารประมาณ 15% ของอุปทานอาหารทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากกว่า 200 ประเทศและดินแดนในอาณัติ โดยมีสถานที่เก็บสินค้าอาหารและฟาร์มในต่างชาติประมาณ 1.25 แสนแห่ง และในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยผักสดมีการนำเข้า 32% ของความต้องการ ผลไม้สด 55% และอาหารทะเล 94% โดยพบว่าปัจจุบันมีการนำส่วนผสมจากโรงงานผลิตอาหารในต่างประเทศหนึ่งโรงงาน ได้ถูกส่งไปใช้ในสินค้าอาหารหลายรายการ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มโอกาสของอันตรายที่มาจากเชื้อโรคที่เกิดจากอาหารเข้าสู่อาหารที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

สำหรับกลยุทธ์ใหม่ ที่ FDA กำหนดขึ้น มี 4 ประการ ได้แก่ 1.) การป้องกันปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหารในห่วงโซ่อุปทานต่างชาติก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา โดย FDA จะเพิ่มการตรวจสถานที่ผลิตอาหารในต่างประเทศ และใช้กฎระเบียบตามที่กำหนดไว้ใน The Foreign Supplier Verification Programs (FSVP) ที่กำหนดให้แจ้งว่าผู้จัดส่งอุปทานให้แก่ตน มีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ แต่จะลดการตรวจในประเทศผู้ส่งออกที่มีระบบความปลอดภัยของอาหารและกิจกรรมการตรวจสอบที่เทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย 2.) เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจพบและการปฏิเสธการนำเข้าอาหารที่ไม่ปลอดภัยที่ด่านนำเข้าสหรัฐอเมริกา โดย FDA จะยกระดับระบบการตรวจและการทบทวนการนำเข้าที่ด่านนำเข้าให้ทันสมัยขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมForeign Supplier Verification โปรแกรม Voluntary Importer Incentive ผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่สามและที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองแล้ว เจ้าหน้าที่ออกกฎหมายในต่างประเทศ 3.) ตอบสนองอย่างรวดเร็ว เมื่อ FDA ทราบถึงอาหารนำเข้าที่ไม่ปลอดภัย โดยวางแผนที่จะพัฒนาการสุ่มตรวจเป้าหมายที่ถูกจับตามอง และทดสอบสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดย FDA จะนำอาจบังคับการเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ และสุดท้าย 4.วัดผลความก้าวหน้าของ FDA ในการสร้างหลักประกันว่าโปรแกรมของ FDA ในเรื่องความปลอดภัยของอาหารนำเข้ายังคงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยจะพัฒนาระบบข้อมูลสถานที่ผลิตอาหารและฟาร์มทั่วโลก เพื่อช่วยในการพิจารณาการจัดสรรทรัพยากรของ FDA ในการดำเนินการตามระบบควบคุมความปลอดภัยของอาหารนำเข้า เพราะการที่ FDA สามารถตรวจสอบและระบุพื้นที่ความเสี่ยงสูงนี้ จะช่วยให้FDA สามารถใช้เครื่องมือควบคุมกฎระเบียบของตนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โทร  001-1-323 466-9645 หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *