บสย. ระดมทีมสาขา พบ SMEs ลุยปล่อยวงเงินค้ำฯ 30,000 ล้านบาท โค้งสุดท้าย
บสย. ระดมทีมสาขาลงพื้นที่ โคราช พบผู้ประกอบการ SMEs สำรวจความต้องการสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ ลุยปล่อยวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโครงการ SMEs ทวีทุน กว่า 30,000 ล้านบาท โค้งสุดท้าย สิ้นสุด 30 มิ.ย. 61 ชี้ SMEs ไซส์เล็ก ดีมานด์สินเชื่อ-ค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง พบธุรกิจดาวเด่น อ.สูงเนิน ภาชนะรักษ์โลก กาบหมาก สร้างรายได้ บสย.หนุนวงเงินค้ำประกัน 100%
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาขาทั้ง 11 สาขา เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อให้มากที่สุด ก่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS 6) ปรับปรุงใหม่จะปิดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีแผนขยายธุรกิจ ที่กำลังต้องการเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่ออีกกว่า 30,000 ล้านบาท รองรับผู้ประกอบการที่กำลังขอสินเชื่อ โดย บสย.จะทำหน้าที่เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อ และค้ำประกันสินเชื่อแบบเต็มจำนวน หรือ 100%
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในเขตอำเภอสูงเนิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์ ของบริษัท ภิญโญวานิช จำกัด เจ้าของแบรนด์ภาชนะบรรจุภัณฑ์ “วีรษา” (VEERASA) พบว่า โรงงานแห่งนี้ยังมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภาชนะบรรจุภัณณ์จากกาบหมากผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดปริมาณขยะ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในเวลา 45 วัน โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทภิญโญวานิช จำกัด ได้รับสินเชื่อจากธนาคารคู่พันธมิตรกับบสย. ปล่อยสินเชื่อ เพื่อซื้อเครื่องจักร โดยมีบสย. ค้ำประกันสินเชื่อ 100% เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับเงินทุนไปขยายธุรกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะรักษ์โลก ได้รับการตอบรับดีเกินคาด จึงต้องการขยายกำลังการผลิตและต้องการเงินทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต
นอกจากนี้ ผลจากการลงพื้นที่ร่วมกับทีมสำนักงานสาขา จังหวัดนครราชสีมา บสย. ยังพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าบสย. มีความต้องการการเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อขยายธุรกิจ ขยายกำลังการผลิต และ เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งบสย.เห็นว่าหากได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินแบบต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการพัฒนาธุรกิจ และเดินหน้าอย่างมั่นใจ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อ ในปี 2561 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่าง ม.ค.-14 มี.ค. มีการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อแล้ว จำนวน 1,200 ฉบับ วงเงินอนุมัติ ค้ำประกันสินเชื่อกว่า 700 ล้านบาท