เชลล์ จัดการแข่งขัน Imagine the Future
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จึงได้จัดการแข่งขัน Imagine the Future เพื่อจุดประกายให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต และมองความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างรอบด้าน โดยมีนักศึกษา 3 ทีม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เข้าร่วมการแข่งขันนำเสนอแบบจำลองสถานการณ์ของประเทศไทยในปี 2050 พร้อมด้วยแนวทางในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เฟ้นหาทีมชนะเลิศ เพื่อเป็นตัวแทนไปร่วมแข่งขันในงาน Imagine the Future Competition 2018 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2561 นี้
การแข่งขันในไทยได้รับเกียรติจากนายธเนศร์ รัชตะปีติ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจยางมะตอย ภูมิภาคเอเชีย และ ตะวันออกกลาง บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด นายดัค แมคเคย์ รองประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของเชลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอดีตสมาชิกทีมพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์ และนายแทนศร พรปัญญาภัทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นคอมเมนเต-เตอร์และผู้ตัดสินเฟ้นหาทีมชนะเลิศ
ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอแนวคิดภายใต้คอนเซ็ปต์ “Newtopia Future of Urban – นครแห่งอนาคต” ซึ่งมองว่าโลกในยุค 2050 จำนวนประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรพลังงานสำหรับการอยู่อาศัย ระบบการจัดการของเสีย และสภาพแวดล้อม โดยเทคโนโลยีทันสมัยจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตและช่วยให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบาย แต่ยังคงต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สร้างมลพิษให้กับสังคมซึ่งนำเสนอผ่านแบบจำลองของเมืองในอนาคต ที่แบ่งตามความหนาแน่นของประชากรได้เป็น 2 แบบดังนี้
1. Ideal city เมืองในมโนคติที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ โดยเมืองนี้จะมีพื้นที่สีเขียวสำหรับเพาะปลูกขนาดใหญ่ แหล่งพลังงานหลักจะได้จากการแปรรูปของเสียจำเป็นแก๊สชีวภาพ มาผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในเมือง ด้านที่อยู่อาศัยจะมีลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ที่แต่ละหลังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา มีสวนสาธารณะเพื่อให้ประชากรในเมืองสามารถใช้พักผ่อน มีการใช้ระบบแม่เหล็กไฟฟ้ากับถนนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ รถยนต์ใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียในการขับเคลื่อน และใช้รสบัสไร้คนขับสำหรับการขนส่งสาธารณะ
2. Economic city เมืองแห่งเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของคนเมืองในทุกด้าน ในเมืองจะเต็มไปด้วยที่พักอาศัยที่เป็นตึกสูงทันสมัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ประชากรมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ในเมืองประกอบด้วยพื้นที่สีเขียว 10-15% การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ขนส่งมวลชนเป็นหลัก ใช้เคเบิลลอยฟ้าสำหรับการเดินทางระหว่างตึกสูง
ทีมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นำเสนอผลงานผ่านแนวคิด “Box of Fix” มองว่าความท้าทายหลักๆ ของอนาคตคือที่อยู่อาศัยและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน มลพิษทางอากาศ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มจำนวนประชากรเป็นสิ่งต้องได้รับการจัดการตั้งแต่วันนี้เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของตึกสูงอย่างหนาแน่นที่ส่งผลให้สภาพแวดล้อมโดยรอบมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดฝุ่นละออง ปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศและบดบังแสงแดด แก้ไขด้วยการจัดการโครงสร้างอาคาร และจัดสรรพื้นที่ในอาคาร แบ่งแป็น 5 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ศูนย์อาหารและศูนย์การค้า ชั้นที่ 2 พื้นที่สำหรับทำงานและที่ประชุม ชั้นที่ 3 คลินิกดูแลสุขภาพและความงาม ชั้นที่ 4 พื้นที่ออกกำลังกาย และชั้นที่ 5 พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจใน นอกจากนี้ภายในอาคารยังถูกออกแบบให้พร้อมรับมือกับสภาพปัญหาต่างๆ ผ่าน 4 ระบบ คือ ระบบการกรองอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในตัวอาคารโดยใช้แผงต้นไม้สำหรับจัดการแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบการดักจับฝุ่นละอองด้วยม่านน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยการนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ และระบบผลิตพลังงานโดยผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และลม
ทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอแนวคิดภายใต้คอนเซ็ปต์ “INEQUALITY ความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยมองว่าในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน โดยการกระจายโอกาสทางการศึกษา และการใช้เทคโนโลยีให้ทั่วถึง ทางทีมจึงออกแบบเมืองแห่งอนาคตออกเป็น 2 แนวทาง จำแนกตามการเข้ามาแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ ดังนี้
1. Blueprint เป็นสถานการณ์ที่ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการโครงสร้างและแก้ไขปัญหาต่างๆ เกิดเป็นสังคมเมืองที่มีความเป็นอยู่ที่หนาแน่นในลักษณะอาคารสูง ความท้าทายด้านพลังงานของสถานการณ์นี้คือการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ติดตั้งเปียโซอิเล็กทริค (Piezoelectric) ใต้พื้นถนนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานกล และติดตั้งหน้าต่างอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหน้าต่างที่มีระบบการทำงานคล้ายโซลาร์เซลล์
2. Share สถานการณ์จำลองที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามามีบทบาท ภายในเมืองใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสร้างสรรค์และทันสมัยให้เข้ากับสังคมในอนาคต เกิดเป็นสังคมชุมชนหมู่บ้านที่มีความเป็นอยู่ที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป ความท้าทายด้านพลังงานของสถานการณ์นี้คือการใช้พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลที่ได้จากการทำเกษตรกรรม โดยมีโรงไฟฟ้าขนาดย่อยประจำหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้านสำหรับแบ่งปันพลังงานแก่กัน สำหรับการเดินทางในอนาคต ยานพาหนะจะใช้พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมด
คณะกรรมการได้ร่วมกันตัดสิน โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนตามคุณภาพของแนวคิดแบบจำลองสถานการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอ และการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามด้วยรองอันดับ 1 คือทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรองอันดับ 2 คือทีมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นายดัค แมคเคย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมทีมนักศึกษาทุกทีม ตั้งใจทำผลงานออกมาได้ดีมาก แต่ละทีมมีจุดเด่นต่างกันคือ ทีมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่แก้ปัญหาด้วยการจัดการกับโครงสร้างที่อยู่อาศัยได้ดี โดยเฉพาะการนำระบบกรองอากาศเข้ามาใช้ ส่วนทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็นำเสนอถึงความเป็นไปได้ของทั้ง 2 สถานการณ์จำลองพร้อมแนวทางการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมีการใช้เหตุผลและข้อมูลที่ใช้สนับสนุนถึงความเป็นไปได้ของแนวทางที่นำเสนอได้อย่างครบถ้วน
นายธเนศร์ รัชตะปีติ กล่าวในฐานะกรรมการรู้สึกประทับใจในผลงานของทุมทีม ซึ่งการที่ได้น้องๆ มาร่วมการแข่งขันครั้งนี้ทำให้เรามองถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กว้างขึ้น และมีแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลายยิ่งขึ้น ในส่วนของการตัดสินคณะกรรมการมองหาทีมที่ทำได้ดีทั้งในส่วนของการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตที่ครอบคลุม และมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ควบคู่กับแนวทางการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งทั้ง 3 ทีมล้วนทำได้ดี ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำได้ดีกว่าในส่วนของการคาดการสถานการณ์ที่ได้จากการหาข้อมูลและการวิเคราะห์มาดี ผ่านการนำเสนอที่ขมวดปมได้ดีกว่า