‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’ มองศักยภาพเวียดนามเติบโต เปิดตัว ‘กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้’ 2-11 ตุลาคมนี้
ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามสดใส คาด GDP ปี 2560-2565 ยังขยายตัวในระดับกว่า 6% ต่อปี หนุนโอกาสเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ชี้ค่า P/E อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า ยังต่ำกว่าตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดีเดย์วันที่ 2-11 ตุลาคมนี้ เปิด IPO กองทุน ‘กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้’ (CIMB-PRINCIPAL VNEQ) ชูจุดเด่นเป็น บลจ.รายแรกที่เปิดกองทุนที่เข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนาม ชูจุดแข็งทีมจัดการลงทุน วิเคราะห์หุ้นลงทุนเอง กลยุทธ์คัดเลือกหุ้นพื้นฐานดี พร้อมเปิดตัวผู้บริหารใหม่เสริมทัพ
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลเตรียมเปิดตัวกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ หรือCIMB-Principal Vietnam Equity Fund (CIMB-PRINCIPAL VNEQ) หลังจากประเมินภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้น โดยนับเป็น บลจ.รายแรกที่เปิดตัวกองทุนที่มีนโยบายเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งมีความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ ในตลาดที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ CLMV ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ โดยมีจุดเด่นคือ ทีมจัดการลงทุนที่บริหารจัดการลงทุนตรง (Direct Investment) ผสานความร่วมมือกับทีมจัดการลงทุน Regional Investment Team ของกลุ่ม CIMB-Principal Asset Management เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งในระดับมหภาคและเชิงลึกของหลักทรัพย์ลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จึงถือเป็นทีมจัดการลงทุนที่เข้าใจตลาดการลงทุนในอาเซียนเป็นอย่างดี
นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เวียดนามมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกโดดเด่น ได้แก่ อัตรา GDP ของเวียดนามในปี 2560-2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวกว่า 6% ต่อปี (ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus และ IMF), การที่เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2550 ได้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment : FDI) เข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้า การทำข้อตกลงทางการค้า (FTAs) กับกลุ่มประเทศอื่นๆ ส่งผลดีต่อการยกระดับประเทศเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและการขยายตัวของสังคมเมือง ตลอดจนค่าเงินDong ของเวียดนามที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนามในปัจจุบันมี 2 ตลาดหลักคือ ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HOSE) มี 340 หลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 40% ของ GDPเวียดนาม และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (HNX) มี 379 หลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหลักทรัพย์ 8,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก Bloomberg และ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ณ วันที่ 5 ก.ย. 2560) โดยทั้ง 2 ตลาดให้ผลตอบแทนนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (วันที่ 1 ม.ค.-5 ก.ย. 2560) 21.1% และ 32% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีดัชนี VN30 ที่แสดงความเคลื่อนไหวหุ้นบลูชิพที่มีสภาพคล่องสูง 30 อันดับแรก และ UPCoM Index ซึ่งเป็นกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนาม
“ตลาดหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจ หลังจากปี 2558 ได้ยกเลิกข้อจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติหรือ Foreign Ownership Limit (FOL) ช่วยปลดล็อกให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 49% ขณะเดียวกันยังมีค่า P/Eประมาณ 14 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีค่า P/E ประมาณ 15.5 เท่า 17 เท่า และ 19 เท่าตามลำดับ รวมถึงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะถูกย้ายไปคำนวณใน MSCI Emerging Market ภายในปี 2563” นายวิน กล่าว
ดังนั้น บริษัทจัดการจึงเตรียมเปิด IPO กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ หรือ CIMB-Principal Vietnam Equity Fund (CIMB-PRINCIPAL VNEQ) ระหว่างวันที่ 2-11 ตุลาคม 2560 มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Foreign Investment Fund (FIF) เน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียน หรือมีธุรกิจหลักในประเทศเวียดนามที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต รวมถึงสามารถลงทุนในกองทุนรวม ETF ตราสารทุนต่างประเทศ รวมเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน กำหนดเงื่อนไขสั่งซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไปขั้นต่ำ 50,000 บาท
ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนของซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลได้ลงสนามศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนาม โดยทำการเข้าเยี่ยมชมบริษัท (Company Visit) วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน คัดเลือกหุ้นรายตัวจากพื้นฐานของบริษัท (Bottom-up Stock selection) ลงทุนตามน้ำหนักไม่ขึ้นกับดัชนีเปรียบเทียบและสนใจผลตอบแทนรวม (Total Return Focus) โดยไม่อ้างอิงผลตอบแทนตลาด โดยได้จำลองพอร์ตลงทุนที่เริ่มบริหารตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2560เกณฑ์การคัดเลือกจะมาจาก 2 ส่วนคือ การคัดเลือกหุ้นลงทุนเองประมาณ 5-10 หลักทรัพย์ ประมาณ 40-90% ของพอร์ตลงทุนในแต่ละช่วงขณะ และเสริมสภาพคล่องลงทุนผ่านการลงทุนใน VN30 ETF ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ 30 หลักทรัพย์แรก ประมาณ 10-60% ของพอร์ตลงทุน ซึ่งทีมจัดการลงทุนจะบริหารพอร์ตลงทุนทุกวันตามสภาวการณ์การลงทุนจริงที่เกิดขึ้น
โดยพอร์ตลงทุนจำลองสามารถสร้างผลตอบแทนรวมและผลตอบแทนหลังปรับค่าความเสี่ยงที่ดีกว่าตลาด ได้ 21.2% เทียบกับดัชนีเปรียบเทียบ VNI Index ที่ 16.4% และ VN30 ที่ 18.5% (ข้อมูล CPAM) โดยมีตัวอย่างหุ้นในพอร์ตการลงทุน เช่น Vietnam Dairy Products JCS (VNM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากนมชั้นนำของเวียดนามที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศกว่า 50% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) เฉลี่ย 20% ต่อปี, Nam Long Investment Corp JSC (NLG) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นพัฒนาโครงการในราคาประหยัด ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโฮจิมินห์ เป็นต้น จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนโดยรวมได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้ลงทุน (พอร์ตการลงทุนจำลองเป็นเพียงแบบจำลองการลงทุนโดยใช้ข้อมูลในอดีตในการคำนวณผลตอบแทน และผลตอบแทนดังกล่าวมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามยังถือว่าเป็นตลาด Frontier Market ซึ่งผู้ลงทุนจะควรรับทราบข้อมูลเพื่อใช้พิจารณาในการลงทุน เช่น ผู้เล่นหลักในตลาดหุ้นเวียดนาม คือ นักลงทุนรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เน้นลงทุนระยะสั้น ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวน หรือการกำหนดสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ Foreign Ownership Limit (FOL) สามารถลงทุนธุรกิจเวียดนามในสัดส่วนไม่เกิน 49% และธุรกิจธนาคารไม่เกิน 30% ซึ่งในปี 2015 (พ.ศ.2558) รัฐบาลได้ปลดล็อค FOL ในบางบริษัทจดทะเบียนและบางกลุ่มอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนบริษัทที่ปลดล็อค FOL เพิ่มขึ้น และในปัจจุบัน หากนักลงทุนต่างชาติต้องการลงทุนในหุ้นติดFOL อาจต้องซื้อในราคา premium (ค่าส่วนต่างราคาสำหรับนักลงทุนต่างชาติ) ซึ่งสูงกว่าตลาดราว 3%-25% กรณีดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต้องรับรู้ผลกำไร-ขาดทุนในทันที ณ วันที่ลงทุน ความเสี่ยงด้านค่าเงิน ความเสี่ยงด้านภาษีในการลงทุน เป็นต้น
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตกองทุนรวมกับซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล แนะนำให้กระจายการลงทุนในกองทุน CIMB-PRINCIPAL VNEQ ตามกลยุทธ์ Asset Allocation เพื่อจัดสัดส่วนการลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงของชาวต่างชาติ รวมถึงรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อประชากรที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเวียดนามและการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ทั้งนี้ สำหรับ นายต่อ อินทวิวัฒน์ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ ที่เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ เมื่อต้นเดือนกันยายน 2560 โดยนายต่อมีประสบการณ์ด้านธุรกิจกองทุนรวมกว่า 20 ปี ซึ่งการร่วมงานใน
ครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุน ร่วมพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พร้อมทั้งจะใช้ความรู้ความสามารถประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่วางไว้