ภาครัฐและภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ผนึกพลังร่วมกับภาคเอกชนชั้นแนวหน้าของไทย สร้างสรรค์โครงการ ‘อีกนิดพิชิตเอดส์ : AIDS-Almost Zero’
การทำงานเพื่อยุติเอดส์ในนามโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” หรือ AIDS-Almost Zero ครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ด้านสาธารณสุขที่สำคัญของไทยและถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรได้จับมือร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาและยุติการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวี
โดยมอบหมายให้มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางในการระดมทุนผ่านโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” หรือ “AIDS-Almost Zero” เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อยุติเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า
โดยวางแผนที่จะลดปริมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และผู้เสียชีวิตจากเอดส์ รวมทั้งสร้างอุดมคติใหม่ให้สังคมไม่เกิดการรังเกียจ กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังเช่นที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในอดีตมีสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานบริการทั้งหญิงและชาย กลุ่มชายเที่ยวหญิงบริการ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด หญิงตั้งครรภ์ และแพร่ระบาดไปสู่ทารกแรกคลอด หรือแม้กระทั่งกลุ่มทหารกองประจำการ
โดยในปี พ.ศ. 2534-2536 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเอดส์รุนแรงที่สุดในประเทศไทย มีสถิติผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ ประมาณปีละ 1 แสนถึง 1.5 แสนคน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากเอดส์ปีละกว่า 6 หมื่นคน
นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลได้มีมาตรการและนโยบาย ควบคุม ป้องกัน ดูแลรักษา และ การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โดยมีภาคประชาสังคมพยายามแสวงหาแหล่งทุนทั้งจากในและต่างประเทศมาทำงาน เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเอชไอวี ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเอดส์จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่การแก้ไขปัญหาการติดเชื้อฯนั้น จะต้องทำไปทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายในการยุติเอดส์ของประเทศไทยตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านกระทรวงสาธารณสุขและประธานในพิธีเปิดโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาเอดส์หรือการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
โดยยังไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ วันนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยจะได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการดูแล ป้องกัน แก้ไข รักษาและช่วยกันยุติเอดส์ให้ได้ภายใน 14 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือทั้งทางด้านวิชาการและงบประมาณเพื่อการทำงานป้องกันเอดส์ โดยความร่วมมือจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กองทุนโลก (Global Fund) และองค์กรระหว่างประเทศหน่วยงานอื่นๆ ที่สนับสนุนให้ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ มีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยภาคประชาสังคมให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการทำงานของภาครัฐ โดยมีมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมหน่วยงานอื่นๆ เพื่อระดมสรรพกำลัง ทำงานเชิงป้องกัน เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่ยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้เข้าสู่ระบบการรักษา
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ เปิดเผยถึงภาพรวมและการดำเนินการโรคเอดส์ในไทยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยพบการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 21 ปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประชากรที่มีการติดเชื้อเอชไอวีสูงและไม่ลดลง ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนมีอายุน้อยก็มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงรูปแบบการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีมีการเปลี่ยนแปลงไป ในปี 2554 ประมาณ 1ใน 3 ของผู้ติดเชื้อฯได้รับเชื้อฯ จากคู่นอน หลังจากสถานการณ์เอดส์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงทางรัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการและนโยบายควบคุม ป้องกัน และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศนโยบายให้เอดส์เป็นวาระแห่งชาติ โดยเพิ่มมาตรการดูแลรักษาและรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันเอดส์ ใช้งบประมาณประเทศในการดำเนินงานด้านเอดส์ และสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม จึงเกิดการริเริ่มรณรงค์ป้องกันและรักษาเรื่องเอดส์อย่างจริงจังเรื่อยมา ทั้งด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตลอดจนกระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก รวมถึงมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ให้ครอบคลุม ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ลดความเลื่อมล้ำของสังคม รวมถึงการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ยังประกาศให้การยุติปัญหาเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด 2.ระดมการทำงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น และ3.เพิ่มงบประมาณด้านเอดส์ในปี 2558 – 2562
“โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้ทุ่มเทงบประมาณ วางนโยบายและมาตรการในการทำงานทั้งด้านการวิจัย รักษา ป้องกัน ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิ องค์กรชุมชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงบริการรักษา ซึ่งประชาสังคมพยายามแสวงหาแหล่งทุนทั้งจากในและนอกประเทศมาใช้ในการทำงาน เพื่อนำไปในใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ จึงทำให้เกิดความสำเร็จร่วมกับภาครัฐหลายประการ
รวมถึงเกิดนโยบายสำคัญที่ร่วมผลักดันขับเคลื่อนโดยความร่วมมือของภาครัฐ และภาคประชาสังคม ทั้งโครงการ
ถุงยางอนามัย 100% สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี จากปีละประมาณ 2 แสนราย เหลือเพียงปีละ 1.5 หมื่นราย ทั้งยังสามารถช่วยให้สถานการณ์การติดเชื้อฯ ผ่านทางเพศสัมพันธ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายมีชัย วีระไวทยะ อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการปัญหาเรื่องโรคเอดส์ โดยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก ให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการติดเชื้อฯ จากแม่สู่ลูก ต่ำกว่า 2% ถือเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นลำดับที่ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม เอดส์ยังไม่หายไปจากสังคมไทย จากสถิติในปี 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่จำนวนถึง 427,800 คน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 15,500 ราย และมีผู้ติดเชื้อฯใหม่จำนวน 6,300 คน ทั้งนี้จากการร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยประสบความสำเร็จทั้งด้านป้องกัน ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสที่จะยุติเอดส์ลงได้ ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ทั้งนี้การยุติเอดส์มีความเป็นไปได้อย่างอย่างแน่นอน หากรัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมลงทุน โดยใช้มาตรการที่มีประสิทธิผลดังกล่าวควบคู่กับมาตรการป้องกันเดิมที่มีอยู่ แต่ในปัจจุบัน งบประมาณของไทยในการแก้ไขปัญหาเอดส์มุ่งเน้นในการรักษาในระบบบริการเป็นหลัก และไม่เพียงพอกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานป้องกันเอชไอวี/เอดส์ โดยส่วนใหญ่อาศัยงบประมาณจากต่างประเทศ จากแผนที่วางไว้ในการยุติปัญหาเอดส์และไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่อีกภายในปี 2573 ภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ได้จับมือ จัดตั้งโครงการ ‘อีกนิดพิชิตเอดส์ หรือ AIDS-Almost Zero’ เพื่อร่วมกันผลักดันการทำงานด้านการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ให้มีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น
ด้านนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ ผู้แทนคณะกรรมการโครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ กล่าวเพิ่มเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในโครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ ว่า มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการดูแลโครงการ รวมทั้งแต่งตั้งบุคลากรในการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการระดมทุนจำนวน 50 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป ปีละ 100-200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ และบริหารจัดการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยการจัดสรรสู่องค์กรภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในการทำงาน และนำเสนอโครงการทำงานด้านเอดส์ ตามมาตรฐานและเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ ให้เกิดผลได้จริง สามารถวัดและตรวจสอบข้อมูล ทั้งยังมีความโปร่งใส โดยหน้าที่หลัก ๆ ที่โครงการจะดำเนินงาน อาทิ เสริมการป้องกันและตรวจนรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี สำหรับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง สนับสนุนการป้องกันเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยง , ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับกระทบจากเอดส์
สำหรับการทำงานเพื่อยุติเอดส์ในประเทศไทยโครงการ “อีกนิด…พิชิตเอดส์” หรือ “AIDS-Almost Zero” นั้น คือ การรวมตัวของภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจที่มีหัวใจช่วยเหลือสังคม ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญระดับชาติครั้งนี้โดยการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจาก UNAIDS และได้มอบหมายให้มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรแกนกลางในการระดมทุน เพื่อจัดสรรสู่องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ลดผลกระทบและเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคม ตามมาตรฐานและเป้าหมายในการพิชิตเอดส์ ตามมาตรฐาน “เกิดผลจริง วัดได้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติและนำมาปรับใช้กับการทำงานโดยกลไกภายในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจร่วมเป็นหนึ่งพลังในการยุติเอดส์และการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ในไทย สามารถร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญร่วมกัน ด้วยการบริจาคเงินได้ที่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด เลขที่บัญชี 319-295473-1 และ ธนาคารกรุงเทพฯ สาขา ซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 127-499778-0 ชื่อบัญชี : AIDS ALMOST ZERO เพื่อมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย หรือติดตามข่าวสาร-ข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.aidsalmostzero.org หรือ facebook.com/AIDSALMOSTZERO