เคทีซี ร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย มอบแพ็คเกจเอ็กซเรย์ 3 มิติแบบเต็มตัว
“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดย สิรีรัตน์ คอวนิช ผู้จัดการอาวุโส – ธุรกิจบัตรเครดิต ร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย จัดกิจกรรมเพื่อแนะนำการให้บริการเครื่องเอ็กซเรย์ 3 มิติแบบเต็มตัว Biplane Imaging (EOS) ที่ช่วยให้เห็นความผิดปกติของกระดูกทั้งหมดได้ชัดเจน
สืบเนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มคนวัยทำงานที่มักนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน และเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคปวดหลังเรื้อรัง รวมถึงความผิดปกติโดยกำเนิด ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยจากโรคกระดูกและข้อ รวมไปถึงกระดูกสันหลังในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน มีเพียงอาการปวดหลังเท่านั้น แต่กลับส่งผลร้ายในระยะยาว ผู้ป่วยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางวินิจฉัยโรคอย่างตรงจุด สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี รับบริการเครื่องเอ็กซเรย์ Biplane Imaging (EOS) รับส่วนลด 20% สามารถรับริการได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2560 ที่แผนกเอกซเรย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย
นพ. สมศักดิ์ จิระพลังทรัพย์ หัวหน้ารังสีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย กล่าวว่า “ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ปัจจุบันจึงมีเครื่องเอ็กซเรย์ที่จะช่วยตรวจหาความผิดปกติของกระดูกได้แบบเต็มตัว ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพเอ็กซเรย์ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าแบบองค์รวม หรือ Global Balance ในท่าที่ผู้ป่วยยืนลงน้ำหนักตัวตามธรรมชาติ ช่วยวินิจฉัยหาที่มาที่ไปของโรคกระดูกและข้อได้ดียิ่งขึ้น
เป็นนวัตกรรมของเครื่องเอ็กซเรย์แบบต่อเนื่อง 2 แกนที่สามารถสร้างภาพ 3 มิติได้ภายในการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว เทคโนโลยีนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณภาพรังสีด้วยเทคโนโลยีระดับโนเบิลไพรซ์ (Nobel Prize Technology)
ที่ได้พัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณพลังงานสูง (High Energy Physics Particle Detector) โดยนักรังสีแพทย์และแพทย์กระดูกและข้อ ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ทั่วไป 6 – 9 เท่า ซึ่งส่งผลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้ได้อย่างตรงจุด”
น.อ.นพ. ทายาท บูรณกาล ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย กล่าวว่า “กระดูกมีความสำคัญต่อร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางของร่างกาย หากมีปัญหาอาการคดเคลื่อน ผิดรูป ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา บางรายมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดหัว ได้รับการรักษามาเบื้องต้นแล้วแต่ก็ไม่หายขาด อาการก็กลับมาอีก จึงจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด หาถึงที่มาของอาการเจ็บปวดเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลัก ๆ คือ เด็กวัยรุ่นที่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ
และอีกกลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่มักจะมีปัญหาทั้งเรื่องกระดูกสันหลัง สะโพก และเข่าซึ่งการตรวจหาความผิดปกติแบบ Global Balance จะช่วยให้แพทย์เห็นถึงปัญหาไปพร้อม ๆ กัน แล้วสามารถวางแผนการรักษาได้”
นพ. วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย กล่าวว่า “การวินิจฉัยด้วยเครื่อง Biplane Imaging (EOS) สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของการทรงตัว ไม่สามารถยืนลงน้ำหนักได้เป็นเวลานาน กลุ่มผู้ป่วยที่น้ำหนักมาก ใช้ประโยชน์ได้กับกลุ่มคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดข้อเทียม เพราะการทำข้อเทียมนั้นต้องให้ความสำคัญในการติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้อสะโพกเทียม
ดังนั้น การรักษาจะต้องมีวิธีการวัดมุมและองศาของสะโพกในแต่ละราย เพื่อให้ข้อเทียมที่ใส่ลงไปทำงานได้ดี เพราะจะทำให้รู้ว่าตำแหน่งที่ใส่เข้าไปมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งมุมเท่าไหร่ และหลังจากการรักษาใส่ข้อเทียมไปแล้วผู้ป่วยจะต้องกลับมาสแกนซ้ำเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ใส่เข้าไปนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไรกับตัวผู้ป่วยเอง ทำให้เห็นถึงปัญหาก่อนที่จะรักษา และประเมินผลหลังทำการรักษาไปแล้วได้”