พฤกษา ผ่าโครงสร้างองค์กร แตกไลน์รับตลาดพรีคาสท์ เร่งโตตามความต้องการของลูกค้า
คณะกรรมการบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการ และจัดตั้งบริษัทใหม่ “อินโน พรีคาสท์” มุ่งสู่การเติบโตทางธุรกิจ ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทในการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารงานของกลุ่ม ภายใต้ยุทธศาตร์ขยายขีดความสามารถ ก้าวสู่ผู้นำด้านการอยู่อาศัยเพื่อชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข” อย่างครบวงจร
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ และทิศทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง และมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และศักยภาพในการสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง (Recurring Income ) ให้แก่บริษัทฯ ในระยะยาว คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรและจัดตั้งบริษัทใหม่ “อินโน พรีคาสท์” ขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ รองรับการขยายกิจการในอนาคต เพิ่มคุณค่าสินค้าและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต
โดยจะแยกหน่วยธุรกิจพรีคาสท์ ซึ่งมีโรงงานพฤกษาพรีคาสท์ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท ให้โอนทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด ซึ่งอินโน พรีคาสท์ ถือหุ้นโดย บมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง ผ่านบริษัท ควอตซ์ โฮลดิ้ง 1 จำกัด และบริษัท ควอตซ์ โฮลดิ้ง 2 จำกัด ซึ่งได้จัดตั้งแล้วเสร็จ และพร้อมกันนี้ทางกลุ่มฯ ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยมอบหมายให้นายพรเทพ ศุภธราธาร เดิมดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดซื้อจัดจ้างและซัฟพลายเชน บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด เป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจพรีคาสท์ นำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ จึงขอถือโอกาสแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทีมงานในการขยายกิจการที่ผ่านมา ทั้งนี้กระบวนการปรับโครงสร้างกิจการจะเสร็จสิ้นภายในต้นปี 2566”
“การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ เป็นไปตามกลยุทธ์การสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนของทั้งกลุ่มบริษัทฯ เพื่อให้การบริหารงานในแต่ละธุรกิจมีความคล่องตัว บริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจพรีคาสท์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ นอกเหนือจากกลุ่มบริษัทฯ เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสอดรับกับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และล่าสุดได้มีการลงทุนนำนวัตกรรมสีเขียว เข้ามาใช้ในโรงงานพรีคาสท์เพื่อสร้างบ้านคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม” นายอุเทน กล่าวเสริม
นายพรเทพ ศุภธราธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดพรีคาสท์ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโต ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ดีเวลลอปเปอร์หันมาเลือกใช้แผ่นพรีคาสท์มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สำหรับโรงงานพฤกษาพรีคาสท์ เป็นโรงงานพรีคาสท์สีเขียว (Green Factory) “Zero Waste” แห่งแรกของไทย ที่ผ่านมากลุ่มพฤกษาได้นำความคิด Outside-In Innovation เข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดมีรูกลวง (Hollow Core) เพื่อลดการใช้ซีเมนต์ ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี ที่ทันสมัยที่สุดในโลก มีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพสูง สามารถผลิตได้ครบทุกส่วนของบ้าน รวมกับระบบการจัดเก็บแผ่นแบบอัตโนมัติที่มีความแม่นยำในการส่งสินค้าไปยังโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยระบบดังกล่าวทำให้บริษัทอินโน พรีคาสท์ มีศักยภาพกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศ สามารถผลิตที่อยู่อาศัยได้สูงถึง 15,600 หลังต่อปี จากผลสำเร็จดังกล่าวข้างต้น ทำให้ยอดรับรู้รายได้ (Backlog) การขายแผ่นพรีคาสท์ภายนอกบริษัทมีกว่า 500 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายรวม 1 พันล้านบาทในปี 2566 ล่าสุดได้นำเข้าเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (CarbonCure) เข้ามาใช้เป็นรายแรกในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast)
“ทางกลุ่มฯ ไม่ได้หยุดยั้งในการสร้างคุณค่าความแตกต่าง หาวิธีในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตลอดเวลา ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ดีไว้ได้ ทั้งนี้คาดว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสีเขียวทั้งแนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) การใช้แผ่นพรีคาสท์แบบ Hollow Core และการใช้เทคโนโลยี CarbonCure รวมกับการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ที่จะเริ่มติดตั้งในช่วงต้นปีหน้าจะทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์ได้ถึง 15,098 ตันคาร์บอนต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้กว่า 1.5 ล้านต้น ถือเป็นการตอบรับความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้นจากความสำคัญในการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ เพื่อให้โครงการมีจุดขายให้กับลูกค้าผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างด้วย Low Carbon Precast ซึ่งลูกค้าจะได้บ้านที่มีคุณภาพ แข็งแรง และยังนับว่ามีส่วนช่วยในการลดการสร้างมลภาวะต่อโลกได้เช่นกัน ดังนั้นการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาจะทำให้แผ่นพรีคาสท์ที่เป็น Backlog เพื่อจะขายภายนอกนั้น ได้รับประโยชน์จากการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในชั้นบรรยากาศตามไปด้วย”