สทร. ปลื้ม! เด็กไทยสนใจร่วมพัฒนาระบบราง ส่งผลงานเข้าประกวด “รถไฟในฝัน” คับคั่ง
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดกิจกรรม “ส่องราง” นำทีมเยาวชน 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดความคิดสร้างสรรค์ “รถไฟในฝัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” ร่วมสัมผัสและเรียนรู้เทคโนโลยีระบบราง และร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การนำเสนอผลงานในรอบตัดสิน
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สทร. เปิดเผยว่า โครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” เป็นกิจกรรมนำร่องของ สทร. ที่จัดขึ้นโดยมุ่งหวังให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของประเทศ ผ่านการประกวดความสร้างสรรค์ หัวข้อ “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชนอายุระหว่าง 16-22 ปี ที่อาศัยหรือศึกษาอยู่ในจังหวัดที่มีรถไฟผ่านและนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มี น้อง ๆ เยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ถึง 433 ทีม แบ่งเป็นรุ่นอายุ 16-18 ปี 270 ทีม และ รุ่น 18-22 ปี อีก 163 ทีม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นของเยาวชนของไทยที่จะร่วมพัฒนาระบบรางของประเทศในมิติต่าง ๆ และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรางของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม รุ่นละ 5 ทีม จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด โดยพิจารณาจากเกณฑ์การให้คะแนนตามสัดส่วนดังนี้ 1.เป็นไอเดียที่น่าสนใจมีความสดใหม่ 70% 2.ตอบโจทย์การพัฒนาระบบรางของระเทศ 20% และ 3.สามารถสื่อสารแนวคิดให้เข้าใจได้ง่าย 10% โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จะต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการอีกครั้งในรอบตัดสิน
“เราต้องขอชื่นชม น้อง ๆ ทุกคนที่ตั้งใจทำผลงานส่งเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ ความคิดสร้างสรรค์ มุมมอง ตลอดจนความคิดเห็นของน้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้ ถือเป็นเสียงสะท้อนที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในการนำไปพัฒนาระบบราง และสามารถได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต เราเชื่อว่าโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ของเยาวชนเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของระบบราง และหวังอย่างยิ่งว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดริเริ่มในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของไทย และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศต่อไป “ ดร.จุลเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ทาง สทร. ยังได้จัดกิจกรรม “ส่องราง” สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ทีม ระหว่างวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2567 ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมเวิร์คช็อปเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนในการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในรอบตัดสิน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและกรรมการให้คำแนะนำและเทคนิคต่าง ๆ และกิจกรรมทัศนศึกษาเยี่ยมชมเทคโนโลยีระบบรางที่ทันสมัย ณ ศูนย์ควบคุมการเดินรถที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมถึงระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น BTS, MRT และ Airport Link เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์จริงในการเรียนรู้เทคโนโลยีระบบราง
สำหรับการประกวดความคิดสร้างสรรค์หัวข้อ “รถไฟในฝัน” ในรอบตัดสินนั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2567 ซึ่งทีมที่เข้ารอบจะได้นำเสนอผลงานด้วยตนเองต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีรางวัลเป็นทุนการศึกษารวมทั้งสิ้น 420,000 บาทพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ และประกาศนียบัตร