เนสท์เล่ รวมพลังพนักงานจิตอาสาและพันธมิตร ฟื้นฟูระบบนิเวศพร้อมความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศส่งผลต่อความยั่งยืนของโลก และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 14: Life Below Water) และเป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (SDG 15: Life on land) เนสท์เล่ ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติ มีการดำเนินโครงการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมและความร่วมมือต่าง ๆ ในครั้งนี้เนสท์เล่ ได้รวมพลังพนักงานเนสท์เล่ทั่วประเทศกว่าร้อยชีวิต ผนึกกำลังพันธมิตรรายสำคัญ ได้แก่ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา และชาวบ้านในชุมชน สานต่อความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน ในกิจกรรมเนสท์เล่อาสา ณ ชุมชนคลองขนมจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อยอดความสำเร็จโครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนที่เนสท์เล่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 9 ปีจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่บริเวณชุมชนรอบคลองขนมจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้แนวทางหลัก 3 ด้าน ได้แก่ เรียนรู้ ปกป้อง และฟื้นฟู
ในกิจกรรมนี้ พนักงานจิตอาสาของเนสท์เล่และพันธมิตรได้ลงมือเก็บขยะและทำความสะอาดคลองขนมจีนโดยใช้เรือนวัตกรรมเก็บผักตบชวาและกำจัดวัชพืชเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำ จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนและปลาสวาย จำนวนมากกว่า 1 แสนตัว ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นที่ส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาเพื่อส่งเสริมการแพร่พันธุ์ปลาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกเหนือไปจากการฟื้นฟูแหล่งน้ำแล้ว พนักงานจิตอาสาของเนสท์เล่ยังได้ปลูกพืชน้ำที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลากชนิดเพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปลูกต้นจิกน้ำ 30 ต้น เพื่อยึดหน้าดิน ลดการพังทลายของตลิ่ง ควบคู่ไปกับการปลูกมะกอก มะดัน และทองหลาง เพื่อการบริโภคในชุมชนและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่อินโดไชน่า กล่าวว่า “เนสท์เล่ดำเนินโครงการเนสท์เล่อาสา หรือ Nestlé Cares ซึ่งเป็นกิจกรรมจิตอาสาสำหรับพนักงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 19 ปี ในปีนี้ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับอินทรี อีโคไซเคิล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา ในการฟื้นฟูระบบนิเวศและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำในชุมชนคลองขนมจีน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำดื่มของเนสท์เล่ กิจกรรมนี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของเนสท์เล่ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา และยังสอดคล้องกับหลักการ ESG ทุกมิติ”
นายบรูโน ฟ๊อกซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าวว่า “อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีความยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับเนสท์เล่ในกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทย ในโอกาสนี้ทีมจิตอาสายังได้ร่วมกันนำขยะที่เก็บจากคลองมาคัดแยกเพื่อจำแนกขยะที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ Refuse-Derived Fuel (RDF) โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือมีมูลค่าต่ำ ส่งไปที่โรงงานอินทรี อีโคไซเคิล จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะและนำไปเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือ Co-Processing สามารถลดการใช้ถ่านหิน นำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นายนิติกร ผิวผ่อง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “คลองขนมจีน นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรน้ำให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนที่ยั่งยืน ปลาตะเพียน กว่า 1 แสนตัวที่เราปล่อยวันนี้เป็นปลากินพืช ที่มีความสำคัญต่อชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว สร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับชุมชน และเป็นอาหารของปลากินเนื้อชนิดต่างๆ การเพิ่มจำนวนปลาตะเพียนจะดึงดูดปลากินเนื้อให้เข้ามาอาศัย และเพิ่มจำนวนในแหล่งน้ำตามห่วงโซ่อาหาร ช่วยเพิ่มความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำในธรรมชาติ”
กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบที่ส่งผลดีต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้มีความสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับคนรุ่นต่อไป