web analytics

ติดต่อเรา

ธนชาตประกันภัย เปิดรับสมัคร “โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 4”

โอกาสในการสร้างความปลอดภัยให้กับถนนของชุมชนมาถึงแล้ว! ธนชาตประกันภัย และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พร้อมภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ขอเชิญชวนชุมชนทั่วประเทศสมัครร่วมโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 4” โดยรวมกลุ่มไม่น้อยกว่า 4 คน สร้างทีมวิเคราะห์จุดเสี่ยงและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุ เพื่อรับงบประมาณสนับสนุน 200,000 บาท ยกระดับความปลอดภัยให้กับถนนของชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 กันยายน 2567 

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนชาตประกันภัย เปิดเผยว่า โครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 4” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจร สร้างสุขภาพชุมชนที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้กับชุมชนทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 27 กันยายน 2567 ทางเว็บไซต์ www.พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย.comโดยปีนี้จะมีการเปิดอบรมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ทุกชุมชนได้เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงของพื้นที่ว่าเกิดจากสภาพถนน หรือพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน และผลักดันให้ชุมชนมีบทบาทในการนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงบนถนนของชุมชนเอง นอกจากนี้ ยังได้เข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการจัดการความปลอดภัยบนถนน และขั้นตอนการนำปัญหาเข้าสู่กลไกการทำงานของภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่ง 10 ชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ชุมชนละ 200,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขของการรับสมัคร ประกอบด้วย 1. การหาแนวร่วมจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมทีมไม่น้อยกว่า 4 คน โดยสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ต้องมาจากหน่วยงานที่เป็นกลไกด้านความปลอดภัยทางถนน เช่น ศปถ.ระดับพื้นที่ และพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต้องเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ อบต.หรือเทศบาล 2. แสดงภาพพิกัดชุมชนและจุดเสี่ยงได้อย่างชัดเจน  3. ศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย  4. สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง (ลักษณะความเสี่ยงทางกายภาพ, ลักษณะความเสี่ยงจากพฤติกรรมทางสังคม หรือเป็นปัญหาทั้ง 2 ลักษณะ) 5. มีทีมที่ปรึกษาและมีเอกสารรับรองหรือหนังสือแสดงเจตจำนงจากหน่วยงานท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ และ 6. สามารถสรุปแผนการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงได้อย่างตรงจุด

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวิฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า พื้นที่ถนนของประเทศไทย ประมาณ 1 แสนกิโลเมตรเป็นพื้นที่ของทางหลวงและทางหลวงชนบท ขณะที่ถนนที่อยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือถนนในพื้นที่ชุมชน จะมีรวมประมาณ 6 แสนกิโลเมตร จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมา ถนนในท้องถิ่นเกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้วางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ธนชาตประกันภัย ผลักดันโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย  ขึ้นมาเป็นต้นแบบของกำลังหนุนจากภาคเอกชน ช่วยเสริมจุดแข็งให้กับยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ที่สำคัญสามารถสร้างความตื่นตัวให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการมีส่วนร่วมสร้างถนนที่ปลอดภัย และสนับสนุนอุปกรณ์ลดความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ด้านสาธารณะจราจร เหมาะสมกับกายภาพทางถนน อีกทั้งยังช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่คนในชุมชน และขยายเครือข่ายกลไกดูแลความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ โดยการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว 30 พื้นที่ทั่วประเทศ และปีนี้จะได้ชุมชนที่ร่วมสร้างถนนปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก 10 ชุมชน ซึ่ง ศปถ. และภาคีเครือข่าย พร้อมที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชน และขับเคลื่อนความสำเร็จของภารกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.), สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.), กรมการปกครอง, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค และสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด  (สอจร.)

โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 4 เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 27 กันยายน 2567 โดยจะคัดเลือก 20 พื้นที่ในรอบกลั่นกรอง วันที่ 3 ตุลาคม 2567 และรอบตัดสิน 10 พื้นที่ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 มาช่วยกันทำให้ถนนของชุมชนปลอดภัยสำหรับทุกคนกันได้ที่เว็บไซต์ www.พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย.com

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *