ไทยฮอนด้า ผนึกกำลัง สอศ. และดีลเลอร์ทั่วประเทศ สานต่อ โครงการ ‘Honda One Dealer One College’
ไทยฮอนด้า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ฮอนด้าในประเทศไทย ร่วมมือกับ สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และร้านผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ลงนามความร่วมมือในโครงการ ‘หนึ่งร้านสร้างสรรค์ หนึ่งสถาบันสร้างสังคม (One Dealer One College)’ เพื่อขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้วยความรู้ ทักษะด้านยานยนต์และเครื่องยนต์อเนกประสงค์จากทางฮอนด้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อความรู้ ทักษะ และวิชาการ ให้แก่สถานอาชีวะศึกษาทั่วประเทศไทย
มร. ชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า “กว่า 1 ทศวรรษที่ไทยฮอนด้า ได้ริเริ่มในการจัดตั้งโครงการ ‘หนึ่งร้านสร้างสรรค์ หนึ่งสถาบันสร้างสังคม (Honda One Dealer One School)’ ตั้งแต่ปี 2554 และได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในครั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยการเพิ่มจำนวนการอบรมให้ความรู้สถานศึกษาในโครงการ ฯ จากเดิม 338 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 389 แห่ง เสริมสร้างทักษะขับขี่ปลอดภัยให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา ผ่านโครงการความปลอดภัยทางถนน (Honda Safety Riding) เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้กับนักศึกษา ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดอุบัติเหตุ เราตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลก ให้เป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593
อีกทั้ง โครงการดังกล่าวยังได้สนับสนุนให้นักศึกษาแสดงความสามารถผ่านการแข่งขัน ‘Honda Eco Mileage Challenge’ โดยร่วมมือกับร้านผู้จำหน่ายฯ มอบเครื่องยนต์ให้กับสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักเรียน นักศึกษาสาขาวิชาช่างยนต์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประสบการณ์ ไปต่อยอดสู่ทักษะวิชาชีพในอนาคต
พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังจะได้รับการส่งเสริมทักษะ และพัฒนาศักยภาพ ผ่านกระบวนการ Up-skill, Re-skill และ New-skill รวมถึงการสะสมประสบการณ์ ความรู้ ทักษะด้านยานยนต์และเครื่องยนต์จากฮอนด้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับทักษะที่จะช่วยเพิ่มความเป็นมืออาชีพในด้านต่างๆ ผ่านทฤษฎีเรียนรู้โดยการลงมือทำ (Learning by doing)
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสานต่อความร่วมมือโครงการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมทักษะและสนับสนุนสถานศึกษารวมถึงบุคลากรได้เป็นอย่างดี ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน และหวังว่าจะได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีอย่างเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อยกระดับการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษา พร้อมส่งต่อบุคลากรที่ดีมีคุณภาพออกสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืนในอนาคต”