web analytics

ติดต่อเรา

เอสซีจี โตโยต้า และ CJPT ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย

เริ่มต้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านการเดินทาง และด้านการใช้ข้อมูล เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทยทุกคน

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) และบริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมมือกันในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2530 เอสซีจี และ โตโยต้า ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท สยามโตโยต้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องยนต์ในประเทศไทย และในปีถัดมา เอสซีจี ได้มีสัดส่วนลงทุนในบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และนับตั้งแต่นั้น เอสซีจี และ โตโยต้า ได้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและได้ขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ทั้งสองบริษัทฯ ซึ่งต่างได้รับการสนับสนุนและโอกาสให้เติบโตในประเทศไทย จะร่วมมือกับ CJPT โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนในการสร้างความสุขให้กับคนไทย 67 ล้านคน ผ่านความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้แนวคิด “เริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ ร่วมกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน” โดยได้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อหาทางออกในสามด้าน ได้แก่ ทางออกด้านพลังงาน ทางออกผ่านการใช้ข้อมูล และทางออกด้านการเดินทาง โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ และมุ่งหวังจะสร้างผลลัพธ์จากการดำเนินการโครงการภายในสิ้นปีนี้ ในการนี้ ได้มีเริ่มต้นการทดลองด้วยการผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่นำมาจากฟาร์มสัตว์ปีกและการจัดกิจกรรมงานแสดงนวัตกรรมยานยนต์เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ในระยะเวลาที่ผ่านมา

1.ทางออกด้านพลังงาน

  • การจัดการด้านพลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงไฮโดรเจน

ค้นหาทางออกด้านพลังงานที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย อาทิ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจน จากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ชีวมวลและอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ  ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก

2. ทางออกผ่านการใช้ข้อมูล

  • การใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งรวมถึงการบรรทุกและการจัดเส้นทางที่เหมาะสม

เพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในประเทศไทย และ Big Data ของ เอสซีจี และ CJPT

3. ทางออกด้านการเดินทาง

  • การจัดหาทางเลือกที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างในประเทศไทย

นำเสนอยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย ได้แก่ HEVs, BEVs และ FCEV รวมถึงยานยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับความพร้อมด้านพลังงาน และสภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อมของลูกค้า และรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ระยะการขับขี่และน้ำหนักบรรทุก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง

และเพื่อเริ่มต้นดำเนินการทั้งสามด้านในทันที เราจะดำเนินการโครงการเพื่อสังคมครอบคลุมทั้งวงจร การผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงาน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย รวมถึงการตรวจสอบประเมินผล และการนำเสนอผลดังกล่าวผ่านหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อนำไปใช้กับภูมิภาคอื่นต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสามบริษัทฯ จะใช้โอกาสนี้เพื่อประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “โครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนา ต่อยอดการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีจากองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศแล้ว  ยังมีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมกันแก้วิกฤตโลกร้อนตามเป้าหมาย Carbon Neutrality (สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ด้วยซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี”

มร.โคจิ ซาโต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประกาศในวันนี้มีจุดเริ่มต้นจากกาารประชุมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของเอสซีจีและโตโยต้าเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในครั้งนั้นเราได้มีมุมมองร่วมกันว่าเราควรทำงานร่วมกันเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เราสามารถร่วมมือกับเอสซีจี ซึ่งให้การสนับสนุนเรามาอย่างยาวนาน และความร่วมมือกับเอสซีจีและCJPTในครั้งนี้ เราจะเร่งความพยายามสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อตอบแทนประเทศไทยที่สนับสนุนธุรกิจของเรา”

มร.ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) กล่าวอีกด้วยว่า “ในความร่วมมือนี้ ทาง CJPT จะร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงภาคการขนส่ง และโลจิสติกส์ในประเทศไทย และเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยต่อไป”

CJPT ซึ่งประกอบด้วย อีซูซุ มอเตอร์ จำกัด ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ไดฮัทสุ มอเตอร์ และ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าร่วม
ข้อตกลงนี้ ที่จะเร่งส่งเสริมประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยอยู่ระหว่างการเตรียมการในการก่อตั้งบริษัทใหม่
“CJPT-Asia” (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในเอเชีย รวมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ ความพยายามของ CJPT ในเอเชีย จะรวมถึงการมีส่วนร่วมของ ฮีโน่ มอเตอร์ จำกัด ด้วย เนื่องจากความเป็นกลางทางคาร์บอนควรได้รับความร่วมมือของทุกอุตสาหกรรม และทุกคน ทั้งสามบริษัทจึงต้องการทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ ร่วมกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อตอบแทนประเทศไทย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *