“บุรีรัมย์ มาราธอน 2023”สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ปอดเหล็กเคนยา ทุบสถิติอาเซียน สัญชัยครองถ้วยพระราขทาน 4 สมัย
ปอดเหล็กเคนยา ไตตัส คิปกอสไก ทำผลงานกระหึ่ม ทุบสถิติ“บุรีรัมย์ มาราธอน 2023” ทำเวลาเร็วที่สุดในประเทศไทยและถือเป็นเวลาที่เร็วที่สุดของอีเว้นท์มาราธอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับเงินโบนัสรวมกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่ สัญชัย นามเขต คว้าแชมป์คนไทยสมัยที่ 4 ควงคู่ ลินดา อินทะชิต ที่ได้แชมป์อีกสมัย ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
การแข่งขัน “บุรีรัมย์ มาราธอน 2023 พรีเซนเต็ด บาย เครื่องดื่มตราช้าง” ปีที่ 7 ชิงเงินรางวัลสูงที่สุดในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท ออกสตาร์ท ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยมีพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายสุรพล อุทินทุ ผู้บริหารสำนักประสานงานภายนอก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยเครื่องดื่มตราช้าง ในฐานะไตเติ้ลสปอนเซอร์ ร่วมงาน โดยใช้เส้นทางวิ่งจากสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ออกสู่ถนนหลักผ่านตัวเมือง และเข้าเส้นชัยที่สนามฟุตบอล ช้างอารีนา จ.บุรีรัมย์ พร้อมทัพกองเชียร์ตลอดเส้นทาง 42.195 กม.
สำหรับรายการนี้ เป็นการแข่งขันในรูปแบบ Night Run (ไนท์ รัน) ภายใต้แนวคิด “สวรรค์ของนักวิ่ง” ที่สุดของงานวิ่งมาตรฐานโลกฝีมือคนไทย รับรองโดย สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race โดยมีนักวิ่งทั้งหมดกว่า 30,000 คน เป็นนักวิ่งจากต่างชาติ นักวิ่งอีลิท และ expat ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 1,063 คน จาก 46 ประเทศทั่วโลก
การแข่งขันแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ มาราธอน ระยะทาง 42.195 กม., ฮาล์ฟ มาราธอน ระยะทาง 21.1 กม., มินิมาราธอน ระยะทาง 10 กม. และ ฟันรัน ระยะทาง 4.554 กม.
ด้านผลการแข่งขันประเภทมาราธอน ชาย ผู้ที่เข้าเส้นชัยคนแรก นักวิ่งอีลิท ไตตัส คิปกอสไก(เคนยา)ทำเวลาได้ 2.08.57 ชม. ทำลายสถิติบุรีรัมย์มาราธอนเดิม ที่เคยทำไว้ 2.11.46 ชม. และทำลายสถิติในกลุ่มอายุ 18-29 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 2.14.36 ชม. พร้อมทำลายสถิติเร็วที่สุดในประเทศไทย และ ถือเป็นเวลาที่เร็วที่สุดของอีเวนท์มาราธอนในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมรับรางวัลโบนัสรวมกว่า 1 ล้านบาท ที่ 2 ฟิกาดู เดเบเล (เอธิโอเปีย) 2.10.49 ชม. ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 30-39 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 2.54.05 ชม.ที่ 3 เบนสัน เอ็มวานกี (เคนยา) 2.11.24 ชม.
มาราธอนหญิง ที่ 1 แอกเนส ไคโน (เคนยา) 2.28.08 ชม.ทำลายสถิติบุรีรัมย์มาราธอนเดิม 2.32.41 ชม. และทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 30-39 ปี หญิง ที่สถิติเดิมทำไว้ 2.54.05 ชม. 2 ลูซี่ คาริมี (เคนยา) 2.28.36 ชม.ที่ 3 อาเบรุ เซนเนเบ (เอธิโอเปีย) 2.29.07 ชม.ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 40-49 ปี หญิง ที่สถิติเดิมทำไว้ 3.20.46 ชม.
ส่วนคนไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรก มาราธอนชาย “สัญชัย นามเขต” เจ้าของเหรียญเงินซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ ทำเวลาได้ 2.30.00 ชม.คว้าแชมป์คนไทยและครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นสมัยที่ 4 พร้อมรับเงินรางวัล 50,000 บาทเช่นเดียวกับ ฝ่ายหญิง ลินดา อินทะชิต ได้แชมป์อีกสมัย ทำเวลาได้ 2.51.51 ชม.
ด้าน สัญชัย นามเขต เปิดเผยว่า ถือว่าปีนี้ประสบความสำเร็จ ทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ รู้สึกพอใจกับสถิติที่ทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว ด้วยอากาศที่ดี มีกองทัพกองเชียร์เป็นกำลังใจตลอดเส้นทาง ทำให้ทำสถิติได้ดีขึ้น ปีหน้าตั้งใจจะทำสถิติให้ดีขึ้น ดีกว่าปีนี้
ประเภทฮาล์ฟมาราธอน ชาย ที่ 1 เจมส์ คารันจา (เคนยา) 1.05.02 ชม.ทำลายสถิติกลุ่มอายุ 30-39 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 1.09.29 ชม. ที่ 2 คินดู ทิรันเนห์ (เอธิโอเปีย) 1.05.34 ชม. ที่ 3 “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม ที่เป็นคนไทยที่เข้าเส้นขัยฮาล์ฟมาราธอนเป็นคนแรก 1.06.05 ชม. ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 18-29 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 1.07.58 ชม
ฮาล์ฟมาราธอน หญิง ที่ 1 อรอนงค์ วงศร 1.21.27 ชม. สถิติ กลุ่มอายุหญิง 30-39 ปี ที่สถิติเดิมทำไว้ 1.24.29 ชม ที่ 2 อรนุช เอี่ยมเทศ 1.28.47 ชม. ที่ 3 ดอร์คัส ทารัส (เคนยา) 1.30.09 ชม.
ด้าน “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม เปิดเผยว่า อากาศปีนี้ดีมาก เส้นทางวิ่งก็ดี สำหรับรายการนี้ ผมทำเวลาได้ดีมากๆ แต่เสียดายมาก เพราะชวดโอกาสทำลายสถิติประเทศไทย เกินไป 40 วินาที แต่สามารถทำลายสถิติของกลุ่มอายุได้ ก็ถือว่าพอใจครับ สำหรับอนาคตในการรับใช้ทีมชาติ รอเก็บความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น เพื่อขยับขึ้นไปแข่งมาราธอนต่อไป
ประเภทมินิมาราธอน ชาย ที่ 1 “เบล” ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม น้องชายฝาแฝดของ “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 32.10 นาที ที่ 2 อีน็อค คีเกน (เคนยา) 32.21 นาที ทำลายสถิติเดิม รุ่นอายุ 30-39 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 33.03 นาที ที่ 3 อาทิตย์ โสดา 32.24 นาที
มินิมาราธอน หญิง ที่ 1 “น้องดิว” เขมจิรา เชื้ออินทร์ วัย 16 ปี ทำสถิติได้ 39.20 นาที ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 13-17 ปี หญิง ที่สถิติเดิมทำไว้ 41.09 นาที ที่ 2 ณัฐธิดา เถาหน้อย 40.25 นาที ที่ 3 ณัฏฐพร สมิทธิวิโรจน์ 41.24 นาที