web analytics

ติดต่อเรา

Keppel เตรียมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนแห่งแรกของสิงคโปร์

เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์) ได้บรรลุการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ผ่านทางเคพเพล เอนเนอร์ยี่ บริษัทย่อยที่ตนถือหุ้นทั้งหมด เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซขั้นสูง (CCGT) ขนาด 600 เมกะวัตต์ที่ล้ำสมัย และได้ทำสัญญางานวิศวกรรม จัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC) สำหรับการก่อสร้างโรงงาน กับกิจการค้าร่วมซึ่งประกอบไปด้วย มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก และ จูรอง เอ็นจิเนียริ่ง โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน ที่จะสร้างขึ้นในเขตซาครา บนเกาะจูร่ง ประเทศสิงคโปร์ นี้ จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนแห่งแรกในสิงคโปร์

เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจที่ลดการลงทุนในสินทรัพย์ของเคพเพล โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน จะอยู่ในการครอบครองของ บริษัท เคพเพล ซาครา โคเกน จำกัด (KSC) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่ เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ ถือหุ้นทั้งหมด โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด เคพเพล เอเชีย อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ (KAIF)[1] และเคพเพล เอนเนอร์ยี่ จะถือหุ้นในบริษัท เคพเพล ซาครา โคเกน (KSC) 70% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัท เคพเพล ซาครา โคเกน (KSC) และเคพเพล เอนเนอร์ยียังมีกำหนดการทำสัญญาเหมาจ้างแบบเบ็ดเสร็จในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน การลงทุนทั้งหมดสำหรับโรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในขั้นต้นยังได้รับการออกแบบให้ทำงานกับเชื้อเพลิงที่มีปริมาณไฮโดรเจน 30% และมีความสามารถในการสลับไปทำงานโดยใช้ไฮโดรเจนทั้งหมด นอกจากนี้ ในฐานะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซขั้นสูง (CCGT) จะสามารถผลิตไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมสำหรับลูกค้าด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์บนเกาะจูร่ง โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน ประเทศสิงคโปร์ มีกำหนดการณ์ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2569 โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ล้ำสมัยและประหยัดพลังงานที่สุดในสิงคโปร์ ซึ่งหมายความว่าจะมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า เช่น ความเข้มของการปล่อยมลพิษที่ต่ำลงและความยืดหยุ่นในการทำงานที่สูงขึ้น  โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซขั้นสูง (CCGT) นี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในบรรดาโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ และจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากถึง 220,000 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานโดยเฉลี่ยสำหรับการผลิตพลังงานที่เทียบเท่ากันของสิงคโปร์ การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ดังกล่าว เทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ตามท้องถนนประมาณ 47,000 คันต่อปี

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก ยังได้รับสัญญาบริการระยะยาว (LTS) สำหรับการบำรุงรักษาของกังหันอีกด้วย

ภาคพลังงานที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของการปล่อยคาร์บอนในประเทศสิงคโปร์[2] การผลิตไฟฟ้าแบบลดการปล่อยคาร์บอนจึงเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญตามแผนสีเขียว (Green Plan) ของประเทศสิงคโปร์

นอกจากสัญญางานวิศวกรรม จัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC) กับสัญญาบริการระยะยาว (LTS) บริษัท เคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ ถือหุ้นทั้งหมด ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิง 100% ในพื้นที่ที่เลือกไว้ในสิงคโปร์ ความร่วมมือนี้มุ่งหวังที่จะจัดการกับปัญหาด้านพลังงานและส่งเสริมการสร้างภาคพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้นในสิงคโปร์และภูมิภาคโดยรอบ

การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ของโรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา ตลอดจนบันทึกความร่วมมือ (MOU) เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้แอมโมเนีย 100% นั้นสอดคล้อง นโยบาย ”วิสัยทัศน์ 2030” ของเคพเพล ซึ่งยึดถือความยั่งยืนเป็นแกนหลักของกลยุทธ์บริษัท

“ความต้องการใช้ไฟฟ้าของสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทาง เศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานตลาดพลังงานจึงยินดีรับการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในระดับเดียวกันมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ด้วยการใช้ไฮโดรเจน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ของเคพเพลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยคาร์บอน สิ่งนี้จะช่วยผลักดันให้สิงคโปร์เปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น พร้อมรับประกันความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของการจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภค” นายเหวียม ชื่อ ชุน ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตลาดพลังงาน (EMA) กล่าว

คุณซินดี้ ลิม ประธานกรรมการบริหารเคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน ขนาด 600 เมกะวัตต์ จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซแห่งแรกในสิงคโปร์ที่ใช้ไฮโดรเจนและมีประสิทธิภาพขั้นสูงสุดทำให้ เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ เป็นแนวหน้าของความพยายามในการลดคาร์บอนของภาคพลังงานของสิงคโปร์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วโรงไฟฟ้านี้จะเพิ่มยอดการผลิตไฟฟ้าของเคพเพลจาก 1,300 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 1,900 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยให้เรามีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากความต้องการพลังงานที่เชื่อถือได้ยังคงเพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์”

คุณคริสติน่า แทน ประธานกรรมการบริหารเคพเพล แคปปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของหน่วยบริหาร เคพเพล เอเชีย อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ (KAIF) กล่าวว่า “การร่วมทุนโดย เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ และ เคพเพล เอเชีย อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ในโรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจที่ลดการลงทุนในสินทรัพย์ของเคพเพล พร้อมกับคว้าโอกาสในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เราเชื่อว่าไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน เคพเพล แคปปิตอล จะยังคงใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของ เคพเพล กรุ๊ป เพื่อค้นหาและลงทุนในโครงการที่พร้อมในอนาคตเพื่อสร้างมูลค่าให้กับนักลงทุนของเรา”

นายโอซามุ โอโนะ กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหารของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ตั้งตารอที่จะจัดส่งกังหันก๊าซ JAC พลังไฮโดรเจนของเราให้โรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีการผสมผสานที่เหนือชั้นระหว่างประสิทธิภาพระดับโลกและความน่าเชื่อถือที่ได้รับการพิสูจน์ด้วยชั่วโมงการทำงานที่มากมายในทั่วโลก ศูนย์ตรวจสอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่เชื่อมต่อกับโครงข่าย T-Point 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่ทากาซาโกะ ไฮโดรเจน ปาร์ก ในญี่ปุ่น และประสบการณ์ที่มากมายของเรา ด้วยการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่อุดมด้วยไฮโดรเจนมานานกว่าครึ่งศตวรรษเนื่องจากเป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำและไม่มีคาร์บอน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้ไฮโดรเจนในระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยมลพิษ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นหุ้นส่วนกับเคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ ซึ่งเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในภาคพลังงาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่วางไว้และสร้างอนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับสิงคโปร์”

นายโคอิจิ วาตานาเบะ กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหารของ จูรอง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แสดงความคิดเห็นว่า “เราดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเคพเพล ซาครา โคเกน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันในการขจัดคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเรา จูรอง เอ็นจิเนียริ่ง จะยังคงสร้างความหลากหลายและเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสามารถด้านวิศวกรรมของเรา โดยการนำเสนอโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ในขณะที่มีส่วนผลักดันอนาคตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

การพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบที่สำคัญกับกำไรต่อหุ้นรวมถึงสินทรัพย์สุทธิที่มีตัวตนต่อหุ้นของเคพเพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเคพเพล แคปปิตอล และเคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน

[1] บริหารจัดการโดยบริษัทการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก เคพเพล แคปปิตอล (ผู้บริหารกองทุนส่วนบุคคลภายใต้ เคพเพล แคปปิตอล)
[2] https://www.nccs.gov.sg/singapores-climate-action/singapore-emissions-profile

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *