web analytics

ติดต่อเรา

ตีแผ่ความคิด ความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยของวัยรุ่น Gen Z ผ่านหนังสือ HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา 

dtac Safe Internet เดินหน้าตอกย้ำจุดยืนในฐานะแบรนด์บุกเบิกประเด็นปัญหาไซเบอร์บูลลี่ จับมือกับสำนักพิมพ์แซลมอน ผนึกกำลัง 10 นักเขียนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดเรื่องราวชวนคิดภายใต้ปมปัญหาไซเบอร์บูลลี่ที่ฝังอยู่ในบรรทัดฐานทางสังคม (social norm) กับหนังสือรวมเรื่องสั้นชิ้นล่าสุด “HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” พร้อมจัดจำหน่ายในราคา 200 บาท ที่ร้านขายหนังสือชั้นนำ หรือสั่งซื้อออนไลน์ที่ Minimore: bit.ly/3aVLJDa

‘ไซเบอร์บูลลี่’ ความรุนแรงที่คนรุ่นใหม่ต้องการ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในมิติทางสังคมส่งผลให้การบูลลี่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่รูปแบบออนไลน์ หลากหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จึงมีข้อกำหนดและกฎหมายครอบคลุมปัญหาไซเบอร์บูลลี่อย่างเข้มงวด ทว่าภูมิทัศน์ของการไซเบอร์บูลลี่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม ‘เด็กไทย’ ที่ถูกจัดลำดับว่าโดนไซเบอร์บูลลี่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น กลับขาดแบบแผน กฎเกณฑ์ข้อบังคับ เพื่อสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกันของคนในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

“เหยื่อสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้” “การเรียนวิชาเพศศึกษาที่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย” “ให้โรงเรียนกำหนดกฎหรือมาตรการรับมือและลงโทษหากนักเรียนมีการไซเบอร์บูลลี่” “ไม่ลงค่านิยมว่าผอมคือขาวสวย” “อยากให้สังคมร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการกลั่นแกล้งและสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม” ล้วนเป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ (Generation Z) กว่า 200,000 คน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนและส่งต่อข้อความกว่า 1.44 ล้านครั้ง เพื่อแสดงเจตจำนงต่อการตราบทบัญญัติเพื่อทำให้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่สิ้นสุดลง ผ่านแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา แคมเปญที่ตั้งใจเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนทั่วประเทศต่อประเด็นปัญหาไซเบอร์บูลลี่บนแพลตฟอร์ม crowdsourcing ของโครงการ dtac Safe Internet (https://safeinternetlab.com/brave/wall-of-change) ในเดือนมิถุนายน 2564 ภายหลังการระดมความคิดเห็น ดีแทคร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดเลือก 205 ทางออกที่มีเสียงสนับสนุนมากที่สุด วิเคราะห์ออกมาเป็นร่างข้อตกลงร่วมเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่จำนวน 23 ข้อ เล่มแรกในประเทศไทย ที่มีชื่อเรียกว่า ‘สัญญาใจวัย Gen Z

 

รวมเรื่องสั้นจากปลายปากกาของ 9 นักเขียนรุ่นใหม่ ที่ชวนสังคมไทยหยุดไซเบอร์บูลลี่

HARSHTAG #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดจากดีแทคและสำนักพิมพ์แซลมอน (Salmon Books) ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ มาตีความจนเกิดเป็นรวมเรื่องสั้น นิยายแชท และการ์ตูนหลายรสชาติที่สะท้อนประเด็นการบูลลี่ ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเนื้อหาทั้ง 9 เรื่อง ถ่ายทอดความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยใหม่ในเรื่องราวการวิจารณ์รูปร่าง การคุกคามทางเพศ การเหยียดเพศ ไปจนถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว นำเสนอผ่าน 10 นักเขียนรุ่นใหม่ที่คิดเห็นตรงกันว่า #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ผู้เขียน Family Comes First ด้วยรักและผุพัง โดนครอบครัวบูลลี่มาไม่น้อย ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ อยากจะพูดก็อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ เลยเลือกสื่อสารด้วยเรื่องสั้นเรื่องนี้แทน

โชติกา ปริณายก

ครีเอทีฟที่ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหนังสือมาแล้วสองเล่มคือ PARIS IN PAIRS ปารีสบนดาวดวงอื่น และ I don’t want a new chapter, I like the old one. เคยถูกบูลลี่โดยการถูกเพื่อนๆ โพสต์รูปตลกๆ ของตัวเองบนโซเชียลฯ และเคยบูลลี่คนอื่นด้วยวิธีการเดียวกัน

ธนชาติ ศิริภัทราชัย

นักเขียนและผู้กำกับที่ Salmon House เวลาเปิดคอมพ์และล็อกอินเฟซบุ๊กค้างไว้ จะเจอสเตตัสผีสิงจากเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ และยอดไลก์มักดีกว่าสเตตัสตั้งเองอีกด้วย

JittiRain

นักเขียนที่จะเขียนงานได้คืบหน้าก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานที่อื่นยกเว้นห้อง ส่วนใหญ่ต้องแชร์งานผ่านโซเชียลมีเดีย แต่บางครั้งก็กลัวการเล่นโซเชียลมีเดีย

serene seabond

นักเขียนอิสระที่ชอบเขียนนวนิยายการเมืองและบทความสัมภาษณ์ผู้คน ชอบแอบส่องประวัติศาสตร์ และไม่ชอบตัวเองเวลาถูก gaslighted!

summer december

ครีเอทีฟและนักการตลาดที่ชอบแอบอู้งานมาเขียนนิยายเพราะการร้อยเรื่องราวผ่านตัวหนังสือเป็นวิธีเดียวที่ช่วยจัดระเบียบความคิดที่ซับซ้อนในหัว ช่วยให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจแม้กระทั่งคนที่บูลลี่ให้ตัวเองเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตมาเป็นสิบปี

afterday

ฟิล์ม นักเขียนที่จบออกแบบภายในและสตรีมเกมเป็นอาชีพ เวลาถ่ายรูปชอบทำหน้านิ่ง เพราะเคยมีคนบอกว่ายิ้มแล้วไม่สวย

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

มีงานเขียนรวมเรื่องสั้น นิยาย และบันทึกการเดินทางออกมาแล้วเจ็ดเล่ม ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ด้านศิลปะ ทำภาพยนตร์สารคดี และเขียนบทภาพยนตร์ ช่วงปี 2563 เขาริอ่านอยากเป็นศิลปินทำนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก คิดถึงคนบนฟ้า (2463-2564) จัดแสดงที่ Cartel Art Space ซึ่งยังเป็นครั้งแรกที่เขาได้รับประสบการณ์ไซเบอร์บูลลี่อย่างเต็มรูปแบบจากชาวเน็ตที่ไม่พอใจในชื่อนิทรรศการ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่จิรัฏฐ์เป็นคนเข้าวัด สนใจธรรมะ จึงก้าวข้ามความเกลียดชังมาได้ ล่าสุดเขากำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองในชื่อ ฝ่าละออง (2565)

ตัวแม่*

นักเขียนเรื่องรักที่เชื่อว่าความรักสำคัญแต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต โดนบูลลี่เรื่องรูปร่างมาทั้งชีวิต­จนถึงจุดที่เข้าใจว่า ถ้อยคำจะมีอำนาจก็ต่อเมื่อเราให้อำนาจกับมัน

สะอาด

เป็นนักเขียนการ์ตูน ออกหนังสือมาสิบกว่าเล่ม ไม่ค่อยโดนบูลลี่ แต่ตั้งแต่เด็กยันโตคิดว่าบูลลี่คนไปไม่น้อยทั้งในจอและนอกจอ

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *