ภารกิจยับยั้งวิกฤตสภาพอากาศของดีแทคและเทเลนอร์ ที่มากกว่าเพียงการช่วยโลก
ตามที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้คาดการณ์ 5 ความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก ท่ามกลางเมกะเทรนด์สำคัญอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว เทเลนอร์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุโรปภายในปี 2573 โลกได้ส่งสัญญาณถึงภาวะโลกร้อนรุนแรง และกำลังเผชิญภาวะการเสื่อมถอยทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมืองชายฝั่งทะเลกำลังจมหายไปเร็วกว่าที่คาด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ขณะที่การทำเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
คริสเตียน ฮอลล์ ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของเทเลนอร์ กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาที่ค่อยเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่กำลังรอวันปะทุ เราเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนของธรรมชาติหลายประการส่งสัญญาณถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของภาวะโลกร้อน เช่น การละลายของทวีปอาร์คติกที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทั้งนี้ เทเลนอร์นั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทคและมอบคำปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย”
กระดุมเม็ดแรกสู่ข้อตกลงปารีส
ในปี 2558 สมาชิกแห่งสหประชาชาติจำนวน 196 ประเทศได้ร่วมกันประกาศสัตยาบันบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าว นานาประเทศต่างมีความจำเป็นในการยื่นแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ซึ่งรวมถึงประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายอย่างเข้มข้นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2533 ภายในปี 2573 และเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐดังกล่าวในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เทเลนอร์ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันทุกตลาดให้ได้ 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2533 ภายในปี 2573” คริสเตียน กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้สัมฤทธิ์ผลและติดตามความคืบหน้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส เทเลนอร์จึงได้ใช้เป้าหมายซึ่งกำหนดโดย Scientific Based Targets Initiative (SBTi) ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามฐานวิทยาศาสตร์
เป้าหมายที่ท้าทาย
เทเลนอร์ เป็นกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการใน 9 ตลาดทั่วโลก ครอบคลุมภูมิภาคนอร์ดิกและเอเชีย อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้ทั้งสองภูมิภาคมีความท้าทายทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงจุดตั้งต้นและเป้าหมายที่ต่างกัน
“ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เทเลนอร์มีความพยายามอย่างยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 โดนมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในส่วนของโครงข่าย เพิ่มสัดส่วนการบริโภคพลังงานสะอาด รวมถึงการใช้บริการอื่นๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของตลาดเอเชียนั้น ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งในปี 2573 โดยโฟกัสที่การเปลี่ยนพลังงานดีเซลเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บริเวณเสาสัญญาณ ตลอดจนสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกตลอดทั้งซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานจากน้ำ” คริสเตียน อธิบาย
ด้วยความพยายามในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งเทเลนอร์เอง มีแผนจะนำระบบสัญญาซื้อขายพลังงานทางเลือกล่วงหน้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) มาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินในระยะยาว โดย PPA นั้นคือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวในปริมาณและราคาที่ตกลงไว้ ซึ่งสมดุลกับความต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือกนั้นยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั้นยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ระบบ PPA ต้องอาศัยการขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากภาครัฐเป็นสำคัญ
“การมีระบบการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ PPA ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5G ซึ่งอาจมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกมาก” เขา เน้นย้ำ
เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า
นอกจากการสนับสนุนการบริโภคพลังงานสะอาดแล้ว การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ อย่างที่ดีแทคเอง ก็มีความพยายามในการลดการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี Cooling precision ซึ่งเป็นการใช้ทำให้ความเย็นเฉพาะจุด ตัวอย่างเช่นที่ชุมสาย (data center) ผสมผสานกับการใช้พลังงานทางเลือกทดแทน นอกจากนี้ ดีแทคยังร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) บน 5G เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ
ในกรณีของเทเลนอร์ นอร์เวย์เอง ได้ริเริ่มโครงการ Green Radio ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง Machine learning และ AI เพื่อช่วยในการคาดคะเนความต้องการใช้พลังงานของโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้สามารถปรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับค่าทางเทคนิคที่เหมาะสมของอุปกรณ์โครงข่าย ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น IoT บิ๊กดาต้า หรือบล็อกเชน ยังทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสภาวะอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการเป็นตัวกลางในการช่วยให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ และผู้บริโภคลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง
“เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบและหาที่มาของวัตถุดิบ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจสนับสนุนสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ดีมากขึ้น เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมการเกษตร ที่การใช้ระบบอัตโนมัติเข้าจำกัดวัชพืช จะช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และนี่คือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ” คริสเตียน กล่าว
“ยังมีตัวอย่างหรือ use case ในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผมตื่นเต้นกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างมาก” ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมกับสภาพภูมิอากาศของเทเลนอร์ กล่าวเสริม
ความคาดหวังต่อสังคม
“ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งลูกค้า พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ปัจจุบัน นักลงทุนจำนวนมากขึ้นให้ความสำคัญกับการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งใช้กรอบการรายงานผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ (Climate-related Financial Disclosure) เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินและเลือกลงทุน” คริสเตียน กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะส่งผลดีต่อตัวบริษัทเอง ดังจะเห็นว่า หุ้นของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่ด้อยในเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยโลกของเราแล้ว นี่อาจเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำบนเส้นทางสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เอง