web analytics

ติดต่อเรา

ลอรีอัล ประกาศ 5 นักวิจัยสตรีไทยผู้ได้รับทุน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2564

ลอรีอัล ประเทศไทย ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์(For Women in Science) ประจำปี 2564 โดยท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ลอรีอัลยังคงเดินหน้าตอกย้ำความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศอย่างยั่งยืน

นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าวว่า “การค้นคว้าวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี เราเชื่อมั่นว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรีเพื่อการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าสังคมได้ให้ความสำคัญและทำให้ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในหลาย ๆ วงการดีขึ้น แต่ในวงการวิทยาศาสตร์นั้นยังคงมีช่องว่างอยู่ ข้อมูลจากรายงานของยูเนสโก[1] ระบุว่า จำนวนนักวิจัยหญิงมีสัดส่วนกว่า 33% เท่านั้น สำหรับประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยนักวิจัยในไทยจำนวน 49.7% เป็นผู้หญิง แต่ถึงกระนั้น ทุกส่วนก็คงต้องให้การสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมในวงการนี้ต่อไป เนื่องด้วยจำนวนผู้หญิงที่ก้าวขึ้นสู่ระดับนักวิชาการที่มีความอาวุโสมากขึ้น หรือได้รับการยอมรับนั้น ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่  โดยรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นที่มอบให้แก่ผู้หญิงมีสัดส่วนเพียง 14% นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อนักวิจัยสตรีทั้งด้านความมั่นคงทางอาชีพ ไปจนถึงระยะเวลาในการทำงานวิจัยที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น[2] ด้วยเหตุนี้ ลอรีอัลจึงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับนักวิจัยสตรีมากกว่าที่เคย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ลอรีอัล ประเทศไทยจะเดินหน้าผลักดันเหล่านักวิจัยสตรีไทย ให้สามารถก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ในระดับสากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพิ่มศักยภาพด้านงานวิจัยให้กับประเทศชาติต่อไป”

ทุนวิจัยฯ 5 ทุน มอบแก่นักวิจัยสตรี 5 ท่าน จาก 5 สถาบัน ในสองสาขา

สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 3 ท่าน

  1. รองศาสตราจารย์ ดร. พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับงานวิจัยหัวข้อ การศึกษาผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า
  2. ดร. กมลชนก ชีวะปรีชา จากหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน มหิดล-อ๊อกฟอร์ด และ หลักสูตรชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับงานวิจัยหัวข้อ การจัดทำแผนที่ทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์
  3. รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอมเพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย”

สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จำนวน 2 ท่าน

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ สุวรรณทอง จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับงานวิจัยหัวข้อ การพัฒนาวัสดุปิดแผลฟองน้ำเซลลูโลสที่มีสารประกอบเชิงซ้อนของเคอร์คิวมินและไคโตซานสําหรับรักษาบาดแผลเรื้อรัง
  2. รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับงานวิจัยหัวข้อ การพัฒนาวัสดุนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นมลพิษทางน้ำ

5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ ประจำปี 2564

รองศาสตราจารย์ ดร. พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า “ไม่นานมานี้ ป่าไม้ได้เกิดปรากฏการณ์ตายหมู่ขึ้นอันเนื่องมาจากสภาวะแล้งที่รุนแรง และมีหลักฐานแสดงปรากฏการณ์ดังกล่าวในป่าเกือบทั่วโลก แต่ยังขาดหลักฐานในป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไม่มีผลการศึกษามาก่อน ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งประเมินและวิเคราะห์อัตราการใช้น้ำของป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งป่าสมบูรณ์และป่ารุ่นสอง เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสามารถในการทนแล้งของพันธุ์ไม้ในป่า โดยงานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทย ที่มีการติดตั้งเสาและอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในป่าหลายขั้นการทดแทน โดยสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นเวลานานเพื่อติดตามสถานะและการเปลี่ยนแปลงของอัตราการใช้น้ำของป่า ซึ่งหากเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ก็จะสามารถนําไปวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ นับเป็นข้อมูลสําคัญที่เกิดจากการตรวจวัดในพื้นที่จริงที่ยังไม่ปรากฏในป่าเขตร้อนที่มีหลายขั้นการทดแทนแห่งใดในโลก และยังเป็นประโยชน์เชิงนโยบาย ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการการใช้น้ำของชุมชนที่จะแม่นยํามากขึ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์ความทนแล้งของชนิดพันธุ์ต้นไม้ในป่าเหล่านี้ ยังจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถทนแล้งได้มาปลูกทดแทน นับเป็นฐานข้อมูลสําคัญสําหรับโครงการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ใกล้เคียง นําไปสู่ผลประโยชน์ทั้งด้านวิชาการและการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เนื่องจากข้อมูลในป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นปริศนาในการศึกษาด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก”

ดร. กมลชนก ชีวะปรีชา จากหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน มหิดล-อ๊อกฟอร์ด และ หลักสูตรชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า “โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้มากในเขตร้อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ พบได้มากในภาคอีสานของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวนา อาการของโรคมีความหลากหลาย เช่น มีไข้ ติดเชื้อที่ปอด หรือติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ลำบาก มีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน อีกทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและถูกละเลย ในฐานะนักวิจัย เล็งเห็นว่ามีเครื่องมือที่มีสามารถช่วยสร้างฐานข้อมูลฐานพันธุกรรมที่สามารถใช้จำแนกเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง หรือกลุ่มคนไข้ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อการการป้องกัน การตรวจ และการรักษาที่มีประสิทธิภาพในอนาคตได้ จึงได้รวบรวมฐานข้อมูล DNA และ RNA ของคนไข้ เชื้อที่ก่อโรคในคนไข้ และเชื้อที่พบในแหล่งน้ำ ไปวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาว่าพันธุกรรมของเชื้อและคนไข้รูปแบบใดที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตมากที่สุด รวมทั้งหาแหล่งที่มาของเชื้อที่คนไข้ได้รับ โดยงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์คือแผนที่ทางพันธุกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงในการป้องกันโรค ทั้งระบุแหล่งการแพร่กระจายของเชื้อในแหล่งน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันหรือ ลดความรุนแรงในการติดเชื้อ ลดจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตจากโรคเมลิออยด์ ควบคู่ไปกับสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ผ่านการให้ความรู้ในการป้องกันตัวเอง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างทีมวิจัยด้านโรคติดเชื้อที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกต่อไป”

รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า “ร่างกายมนุษย์เปรียบเสมือนบ้านของจุลินทรีย์ ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับยีนของจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ไมโครไบโอม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งหากทำการศึกษาไมโครไบโอม โดยศึกษาชนิด หน้าที่ กิจกรรมของยีน วิถีเมแทบอลิกของไมโครไบโอม ปฏิสัมพันธ์ของไมโครไบโอม ปฏิสัมพันธ์ของไมโครไบโอมกับอาหาร รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ของไมโครไบโอมร่วมกับจีโนมของมนุษย์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำนายโรค การดูแลรักษาสุขภาพ และการออกแบบอาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods) ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงได้ให้ความสนใจในการพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอม ที่เรียกว่า ซีสไมโอม (SYSMIOME) ขึ้น โดยบูรณาการเครื่องมือและอัลกอริทึมที่ทันสมัย เพื่อจัดการกับข้อมูลไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของคนไทยที่ได้จากเทคโนโลยีเมแทโอมิกส์ โดยคุณลักษณะที่โดดเด่นของแพลทฟอร์มนี้ คือสามารถแสดงสื่อประสานแบบกราฟิกกับผู้ใช้งานในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เพื่อการวิเคราะห์ทางชีววิถี และหน้าที่ของไมโครไบโอมเชิงชีวสถิติ เพื่อทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย โดยการสร้างและพัฒนาแพลทฟอร์ม SYSMIOME สามารถนำไปใช้เพื่อทํานายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย และยังสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเมแทโอมิกส์และไมโครไบโอมิกส์ในประเทศ รวมถึงการนำแพลทฟอร์มดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพสร้างความสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร อีกทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับนักวิชาการและหน่วยงานด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในประเทศไทย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ สุวรรณทอง จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอัมพฤกษ์ และโรคอัมพาตเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักพบบาดแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ โดยบาดแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และบาดแผลกดทับถูกพบมากที่สุดในบรรดาบาดแผลเรื้อรังทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักเกิดการจากติดเชื้อของแบคทีเรีย และมีปริมาณของเสียจากบาดแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้การดูแลรักษาบาดแผลเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลานาน และต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง การใช้วัสดุปิดแผลจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยดังกล่าว โดยวัสดุที่ใช้ต้องมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ น้ำและออกซิเจนสามารถแพร่ผ่านได้เหมาะสม ป้องกันการสูญเสียน้ำจากร่างกายเพื่อช่วยรักษาสภาวะของแผลไม่ให้แห้ง และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าการพัฒนาวัสดุปิดแผลสำหรับรักษาบาดแผลเรื้อรังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาบาดแผลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาวัสดุฟองน้ำที่มีลักษณะเป็นรูพรุน ช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผลได้ดี และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บของเหลวได้ โดยใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติและพบได้ในประเทศไทย คือ เซลลูโลสจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด และไคโตซานจากเปลือกกุ้ง กระดองปู เป็นต้น อีกทั้งยังมีการใช้เคอร์คิวมิน สารสกัดจากขมิ้นชัน ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพเหมาะสำหรับใช้ในการรักษาบาดแผล โดยผลงานวิจัยนี้สามารถนําไปต่อยอดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุปิดแผลที่ผิวหนังให้มากขึ้น ช่วยยกระดับงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ลดการนําเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ในที่สุด”

รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมฟอกย้อมเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดน้ำทิ้งจากสีย้อมในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมาก หากไม่มีระบบการบำบัดน้ำทิ้งที่ดีจะนำไปสู่การปนเปื้อนสีย้อมในน้ำทิ้ง เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมฟอกย้อมจะมีการบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อเป็นการป้องกันการตกค้างของสีย้อมในน้ำทิ้ง ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อม ได้แก่ การตกตะกอนด้วยสารเคมี กระบวนการบำบัดทางชีวภาพ การดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์ การออกซิไดซ์ด้วยโอโซน เทคโนโลยีเยื่อแผ่น แต่กระบวนการเหล่านี้มีข้อจำกัด ทั้งในแง่ของระยะเวลา ต้นทุน ขั้นตอนการกำจัดผลิตภัณฑ์สุดท้ายจากการบำบัด ด้วยเหตุนี้ จึงสนใจศึกษากระบวนการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสีย้อมในอุตสาหกรรมฟอกย้อมโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดสำหรับการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา และยังเป็นวิธีการย่อยสลายสีย้อมที่สามารถนำตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงกลับมาใช้ซ้ำได้ ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการย่อยสลายสีย้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในงานวิจัยจึงมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเพิ่มอัตราการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายสีย้อมในน้ำ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวัสดุเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับลดมลพิษทางน้ำที่มาจากการปนเปื้อนของสีย้อมในน้ำ โดยผลงานที่เกิดขึ้นประกอบด้วยต้นแบบตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงระดับห้องปฏิบัติการและบทความวิจัย สามารถนำไปต่อยอดเพื่อผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการบำบัดน้ำเสีย โดยการลดสารสีย้อมตกค้างที่ถูกปล่อยในน้ำทิ้งและช่วยส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด”

ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 19 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 76 ท่าน จาก 20 สถาบัน

[1] UNESCO (2021), UNESCO Science Report: the Race Against Time for Smarter Development. UNESCO Publishing, Paris

[2] The Impact of Covid-19 on Women Scientists from Developing Countries: Results from an OWSD Member Survey, 20 June

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *