web analytics

ติดต่อเรา

ปอร์เช่ รักษาระดับผลตอบแทนจากการจำหน่ายรถยนต์ได้มากกว่า 15%

ถึงแม้วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าจะทำให้ทั่วโลกขาดแคลนอุปกรณ์ semiconductor อย่างหนัก ในทางกลับกันบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองสตุ๊ทการ์ท ยังคงสร้างผลการดำเนินงานอันยอดเยี่ยม เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี ด้วยการบรรลุเป้าหมายอัตราส่วนผลตอบแทนจากการจำหน่ายรถยนต์ได้ถึง 15.5% สำหรับปอร์เช่ ปี 2021 นับว่าเป็นการสร้างผลงานได้เกินกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ถึง 15% ส่งผลให้ปอร์เช่รั้งตำแหน่งหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ที่มีผลกำไรสูงที่สุดในโลกตลอดระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี โดยมีรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น 19.1% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 23.1 พันล้านยูโร (รายได้ในปีที่ผ่านมา 1,940 ล้านยูโร) และมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 3,600 ล้านยูโร (ผลกำไรในปีที่ผ่านมา 2,000 ล้านยูโร) คิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น 78.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2020 รวมถึงผลตอบแทนจากการขายอยู่ที่ 10.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน

Lutz Meschke รองประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ผู้กำกับดูแลส่วนงานการเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศของ ปอร์เช่ เอจี กล่าวว่า “เรามีความภาคภูมิใจในประสิทธิภาพจากการทำงานของเรา แต่อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 ปอร์เช่จะยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเช่นเดิม โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เราได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายด้วยดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย และส่งผลกระทบอยู่บ้างต่อยนตรกรรมสปอร์ตที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชอบ อาทิ ปอร์เช่ 911 (Porsche 911) และปอร์เช่ ไทคานน์ (Porsche Taycan) แต่เรายังคงเดินหน้าต่อไป พร้อมกับความเข้มงวด และแม่นยำในการบริหารจัดการต้นทุน”

นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2021 ปอร์เช่มียอดส่งมอบรถยนต์ใหม่ถึงมือลูกค้าทั่วโลกกว่า 217,198 คัน หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศที่อยู่ในการดูแลของปอร์เช่ เอเชีย แปซิฟิก (Porsche Asia Pacific¹) มียอดส่งมอบรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยรถไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดของปอร์เช่ มีสัดส่วนต่อยอดส่งมอบในภูมิภาคถึง 53% นับได้ว่าทำสถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับผลตอบรับต่อทิศทางการดำเนินงานของปอร์เช่ในอนาคตเพื่อต่อยอดในการบรรลุตามเป้าหมายกลยุทธ์องค์กร Porsche’s global strategic ซึ่งกำหนดให้มียอดจำหน่ายรถไฟฟ้า 50% ภายในปี 2025

Oliver Blume ประธานกรรมการบริหารของ Porsche AG กล่าวว่า “ในกรณีที่ปราศจากปัญหาการขาดแคลนชิปอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ปอร์เช่จะมีโอกาสจำหน่ายรถยนต์ได้ในปริมาณมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาจนเต็มกำลังการผลิต พิสูจน์ได้ชัดจากยอดส่งมอบของรถสปอร์ตไฟฟ้าปอร์เช่ ไทคานน์ (Porsche Taycan) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 28,640 คัน ใน 9 เดือนแรกของปี “ปอร์เช่ ไทคานน์ (Porshce Taycan) คือรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมชั้นสูง และได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าปอร์เช่ ถือเป็นผลตอบรับที่ดีเยี่ยมต่อกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยของยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ความต้องการยนตรกรรมสปอร์ตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการวางตำแหน่งของสินค้าที่ถูกต้อง”

ผลกระทบจากวิกฤติการณ์การขาดแคลนอุปกรณ์ semiconductor ในตลาดโลก ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน โดยรายได้และผลตอบแทนจากการขาย ลดต่ำกว่าระดับที่เคยทำได้ในหลายเดือนก่อนหน้า ตามที่  Meschke ได้กล่าวถึงสถานการณ์การขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งจะยังเป็นเช่นนี้ไปในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า “ไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราจะต้องทุ่มเททุกความพยายามที่มี เพื่อผลิตรถยนต์ให้สมบูรณ์ แม้ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอุปกรณ์ semiconductor ก็ตาม วัตถุประสงค์สำหรับปีนี้ คือการบรรลุผลงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้เมื่อสิ้นปี” Meschke เน้นย้ำถึงเป้าหมายกลยุทธ์ ผลตอบแทนจากการจำหน่ายรถยนต์ที่ 15% “พวกเราทั้งหมดจะทำทุกวิถีทางที่เราสามารถทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะสร้างผลงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายตลอดทั้งปี”

ผู้ผลิตรถสปอร์ตชั้นนำของโลกเดินหน้าโครงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยโปรแกรมการลงทุนในระบบ digitalisation และ electrification แต่อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดสุทธิของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในวันที่ 30 กันยายน 2021 มีตัวเลขกระแสเงินสุดสุทธิอยู่ที่ 2,900 ล้านยูโร หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 74.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2020 กระแสเงินสดสุทธิ 1,700 ล้านยูโร) และในขณะเดียวกัน แม้จะอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก ปอร์เช่ ยังคงสามารถรักษาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรได้ถึง 36,663 คน (เมื่อสิ้นปี 2020  มีจำนวนบุคลากร 36,359 คน)

¹Porsche Asia-Pacific: รับบทบาทในการประสานงานครอบคลุม 13 ประเทศในภูมิภาค ประกอบด้วย: บรูไน, กัมพูชา, เฟรนซ์ พอลินีเซีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, มองโกเลีย, นิว คาลิโดเนีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ศรีลังกา, ไทย และเวียดนาม

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *