Mitsubishi Electric และ EEC แถลงความสำเร็จและความพร้อมในการที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม 4.0
Mitsubishi Electric ร่วมกับ EEC และเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมทั้งไทยและญี่ปุ่น จัดแถลงผลงานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สามารถขยายผลความร่วมมือเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจตามแนวทาง Ecosystem สนับสนุนการใช้ระบบ e-F@ctory เพื่อการสร้างสรรค์โซลูชั่น และการเติมเต็มความรู้ของบุคลากร ผ่านความร่วมมือในโครงการ EEC Automation Park ด้วยการเชื่อมโยงกลุ่ม e-F@ctory Alliance ในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนากระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อนำไปสู่ Industry 4.0 อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท กระจายครอบคลุมไปในทุก ๆ อุตสาหกรรม
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวโดยสรุปว่า “ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการผลักดันการใช้ Automation เพื่อพัฒนา Smart Factory 4.0 ในไทยได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะ Mitsubishi Electric ที่ร่วมก่อตั้ง EEC Automation Park ที่มหาวิทยาลัยบูรพาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบ e-F@ctory ซึ่งข้อมูลจากงาน JETRO Manufacturing Digital เมื่อต้นปีได้คาดการณ์ว่า ตลาด IOT & Digital ของโลกภายในปี 2568 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสัดส่วนจากเมืองอัจฉริยะ 28.6% และจากภาคอุตสาหกรรม 26.4% หรือประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคเอกชนญี่ปุ่นยังประเมินอีกว่า หากนำ IOT & Automation มาใช้จะช่วยให้ลดภาระงานลงกว่า 1,131 ชั่วโมง/เดือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์ของ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีการนำเข้าและลงทุน Robotics & Automation เพิ่มขึ้นมาก การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมและการเพิ่มทักษะแรงงาน Digital Technologies, Automation และ Digital Platforms จึงถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการแข่งขัน (Competitiveness) ในตลาดโลกได้ และเพื่อต่อยอดแนวคิดนี้ให้สำเร็จ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือเชิงธุรกิจ Ecosystem นำศักยภาพของเครือข่ายมุ่งขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation เพื่อให้เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงใน EEC และดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ซึ่ง EEC ได้ตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5G, Digital, Smart Factory, Data Center, Cloud Services, Digital Platforms มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท/ ปี ภายใต้การให้บริการ 5G ในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมถึง 100% ดังนั้นด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ทำให้เราสามารถยืนยันความพร้อมทั้ง Technology, Know-How, Hardware, Software ซึ่งจะเป็น Key Stepping Stone สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน EEC สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital, Robotics, Automation เพื่อปรับตัวเข้าสู่ระบบ Supply chain โลกยุคใหม่”
นอกจากนี้ EEC Automation Park ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน Robotics, Automation ผ่านกลไกการขับเคลื่อนโดย EEC-HDC ศูนย์เครือข่าย EEC Net และการส่งเสริมให้มีการรับรองทักษะตามมาตรฐานสากล (Skill Qualification) เพื่อให้มีทักษะและผลิตภาพแรงงาน หรือ Labor Productivity สูงขึ้นด้วยมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 2,000 คน/ ปี หรือ 15,000 คนภายใน 5 ปี
คุณอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO เผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทยและภาคเอกชนของญี่ปุ่นว่า “ตามรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ ยอดขายประจำปีของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 แม้ว่าตลาดจะหดตัวในระยะสั้น จากเหตุอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวนั้น วิกฤตครั้งนี้อาจจะกระตุ้นให้คนใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสการเติบโตที่ยอดเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลกอีกด้วย และย้อนไปในปี 2019 ญี่ปุ่นเป็นตลาดอันดับที่ 2 (รองจากจีน) และไทยเป็นตลาดอันดับหนึ่งในประเทศอาเซียน
ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก และบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยก็มีจำนวนมากเช่นกัน แต่ความท้าทายคือการรักษาความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าในฐานการผลิตที่สำคัญต่อไปนั้น ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยลดเวลาในการผลิตและยังตรวจจับความผิดปกติของไลน์ผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
Mitsubishi Electric เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในระบบอัตโนมัติในโรงงาน เช่น หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเทคโนโลยีและความรู้ของญี่ปุ่นจะเผยแพร่สู่ประเทศไทยผ่านทาง EEC Automation Park แห่งนี้ ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า EEC Automation Park จะสามารถส่งเสริมและผลักดันเกี่ยวกับการปรับใช้ระบบอัตโนมัติของโรงงานและการเพิ่มผลผลิตในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของทาง JETRO เองได้มีการดำเนินโครงการ “JETRO Robot Automation Project” ในปีที่แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากสำนักเลขาธิการ EEC ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.คณิศ โดยเนื้อหาประกอบด้วยการจัดตั้งเว็บไซต์พิเศษ, การสัมมนาออนไลน์ และการประชุมทางธุรกิจ นอกจากนี้ในการฝึกอบรม SI ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแนะนำหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่ง JETRO Bangkok ก็ยังได้เข้าร่วมและสนับสนุนการฝึกอบรมนี้ ผ่านโครงการ “LASI (Lean Automation System Integrators)” ตั้งแต่ปี 2018 โดยมีวิศวกรมากกว่า 900 คนที่ได้เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนี้
ส่วนทางด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยนั้น ก็ได้มีการเปิดตัวโครงการ “LIPE (Lean IoT Plant management & Execution)” ตั้งแต่ปีที่แล้ว และนอกจากนี้ก็ยังมีการสนับสนุนเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน ผ่านความร่วมมือระหว่าง JETRO และ EEC ในด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นฐานสำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน
ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาให้ความสนใจและมีความต้องการที่จะใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยมีผลดีในด้านของการประหยัดงบประมาณการจ้างแรงงาน และมีแนวโน้มในการเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลของพื้นที่สำหรับส่วนการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย และเราก็คาดว่า EEC Automation Park จะพัฒนาเป็นแกนหลักของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทยในอนาคต JETRO จะยังคงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน และจะยังคงสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย JETRO จะยังคงมีส่วนร่วมในพัฒนา EEC Automation Park แห่งนี้ต่อไป รวมถึงวิศวกรที่รับการอบรมจากที่นี้จะเป็นผู้เสริมสร้างและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทย และในที่สุดอุตสาหกรรมการผลิตของไทย JETRO จะตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบ WIN-WIN ระหว่างไทยและญี่ปุ่น”
ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ซึ่งรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา กล่าวว่า “ความร่วมมือในการผลิตบุคลากรด้านออโตเมชั่นและการพัฒนาการศึกษาด้านออโตเมชั่นนี้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินงานร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย ในพื้นที่ EEC และกับมหาวิทยาลัยนอกเขต EEC อีก 20 มหาวิทยาลัย และพัฒนาความร่วมมือกับ 40 วิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ โดยพุ่งเป้าผลิตบุคลากรด้านออโตเมชั่นตามโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ดิจิทัล โรโบติกส์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ซึ่งในกลุ่มความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้มีความต้องการตามแผนการลงทุนใน EEC ใน 5 ปีนี้รวมทั้งสิ้นราว 375,624 คน ซึ่งการพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นนี้ ได้ร่วมมือกับ Mitsubishi Electric และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปรับสร้างศักยภาพบุคลากรด้านนี้ขึ้น ผ่านความร่วมมือกับศูนย์ Automation Park มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์ปฏิบัติการเรียนด้านออโตเมชั่นในวิทยาลัยระดับอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชนควบคู่กันไป
ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในระบบ Automation และ Factory 4.0 โดยรวม ได้สร้างและขยายการเรียนรู้ขึ้นอย่างเบ่งบาน ส่งเสริมการศึกษา การทำงาน ให้เป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการระดับต่าง ๆ ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมใน EEC และกับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา EEC-HDC ร่วมกับ Mitsubishi Electric และเครือข่ายสถาบันการศึกษาใน EEC ได้ช่วยจัดปรับทิศทางการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรโดยรวมเข้าสู่ทิศทางแบบ Demand Driven และดำเนินการผลิตบุคลากรไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรในการอบรมระยะสั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 133 หลักสูตร เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน EEC มากกว่า 130 บริษัท ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาต่อยอดพัฒนาบุคลากรและการศึกษาของ EEC-HDC ได้ขยายเครือข่ายผ่านการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน EEC โดยมีการประสานความร่วมมือใกล้ชิดกับ EEC Industrial Forum (EIF) ข้อสรุปทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าโดยสรุป ที่หยิบยกขึ้นมาแสดงถึงหลักประกันสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และความก้าวหน้าของความร่วมมือที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนใน EEC ที่จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ และการปรับตัวยกระดับของอุตสาหกรรมเดิมให้เติบโตเท่าทันตามเป้าหมายการพัฒนา และการลงทุนทุกระดับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC อย่างมีนัยยะสำคัญ”
คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “Mitsubishi Electric Group ได้ก่อตั้งมาแล้วเป็นเวลา 100 ปี และได้เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ โดยประมาณ 50 ปี ที่ได้ทำให้คนไทยมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์รูปเพชรสามแฉกมายาวนาน และเข้าใจดีถึงความหมายอันลึกซึ้งด้านคุณภาพและเทคโนโลยีของเรา ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ปรับอากาศ สินค้าระบบอาคารหรือที่เข้าใจกัน คือ ลิฟต์และบันไดเลื่อน อุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบไฟฟ้าและพลังงานมากมาย ซึ่งมีกลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ในประเทศไทยรวมแล้วทั้งหมด 11 บริษัท และได้มีการจัดตั้งโรงงานทั้งใน EEC และนอก EEC ด้วยยอดขายประมาณ 120,000 ล้านบาท มีการสร้างงานให้คนไทยประมาณ 20,000 คน และอีกผลิตภัณฑ์สำคัญที่ทำให้เรามารวมตัวทำความร่วมมือกันในวันนี้ คือ ระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานและอาคาร โดยเราได้เริ่มนำ โซลูชั่น e-F@ctory เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ด้วยเชื่อว่า Key Success สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ประกอบด้วย 3 ฟันเฟืองหลัก ได้แก่ 1. Machine Automation 2. Digital Engineering และ 3. Human Knowledge แต่การดำเนินงานเพียงลำพังนั้นไปได้ค่อนข้างช้า และไม่ก่อให้เกิดความสำเร็จในวงกว้าง การได้ร่วมงานกับหน่วยงาน EEC-HDC ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา และวันนี้ความร่วมมือนั้นก็ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ระดับหนึ่งแล้วที่ EEC Automation Park และการจะต่อยอดความสำเร็จต่อไปในภาคอุตสาหกรรมไทย คือการสร้าง Ecosystem ให้เกิดความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย ที่ช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการสายโรงงาน และสถานศึกษาได้เรียนรู้ ปรึกษาหารือในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะเป็นก้าวแรกที่มั่นคงสำหรับการนำพาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเข้าสู่การพัฒนา Digital Manufacturing Platform อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในยุค Digital และยังเป็นแรงเสริมให้กับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะ EEC ในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ 10S Curve บวกอีก 2S Curve สำหรับประเทศไทยต่อไป”
ด้าน ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park กล่าวสรุปความคืบหน้าในการดำเนินโครงการในส่วนต่าง ๆ ว่า “EEC Automation Park เป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากร ด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิทัล เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยเป็นแหล่งรวมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาและเรียนรู้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล (IIoT) และการใช้เทคโนโลยี 5G อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 หลักสูตร รวมถึงการให้บริการข้อมูลฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในรูปแบบ Business Matching โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิดการนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมได้จริง รวมถึงบริการด้านการให้คำปรึกษาการปรับปรุงการผลิตแก่ภาคอุตสาหกรรม การจัดหาแหล่งทุน และบริการพื้นที่ Industrial Sandbox เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมกับกลุ่มพันธมิตรโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ Thailand Digital Valley ของทาง DEPA และ EECi/SMC ของทาง NECTEC เพื่อสนับสนุนกิจกรรมกับภาคอุตสาหกรรมในการทดลองก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564นี้ จะเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และรวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเริ่มเข้ามาเยี่ยมชมได้ โดยหวังว่า EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ”
คุณบวร เทียนสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาโครงการและกลุ่มพันธมิตร กล่าวถึงภาพรวมในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และหลักการ SMKL – Smart Manufacturing Kaizen Level ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Ecosystem ว่า “Mitsubishi Electric และกลุ่ม e-F@ctory Alliance ได้ร่วมกัน เป็นที่ปรึกษาในการนำโซลูชั่นต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจุบันมีพันธมิตรเข้าร่วมกลุ่ม e-F@ctory Alliance เพื่อพัฒนาสินค้าและโซลูชั่นกว่า 900 บริษัท มีการนำโซลูชั่นไปใช้จริงแล้วมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยนั้นเราริเริ่มโครงการ e-F@ctory Alliance ในปี 2019 โดยในปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต ไปสู่ Industry 4.0 โดยโครงการ e-F@ctory Alliance นั้น เราได้แบ่งกลุ่มพันธมิตรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Software Partner, Device Partner และ System Integration Partner เรามีการทำงานร่วมกัน แบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้ และพัฒนาโซลูชั่นเพื่อนำเสนอให้กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เรายังมีพันธมิตรส่วนเสริมอื่น ๆ อีก เช่น Education Partners ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักตามแนวทางของ e-F@ctory + SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level)”
ปัจจุบัน Mitsubishi Electric ร่วมกับพันธมิตร (e-F@ctory’s alliance) ในการพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ ซึ่งมีหลายส่วนพร้อมแล้วที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้งานได้จริง ตัวอย่างเช่น 5G Remote Solution, Automated Mobile Robot (AMR), Automated Storage and Retrieval System (AS/RS) หรือ การเชื่อมต่อระบบ IT กับ OT โดยมี Cyber Security นอกจากนี้ยังมีโรงงานพันธมิตรที่พัฒนาการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) โดยปรับใช้โซลูชั่นจากกลุ่มพันธมิตร (e-F@ctory Alliance) ในประเทศไทย อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ซึ่งโรงงานพันธมิตรพร้อมที่จะต้อนรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงงานและแชร์ประสบการณ์ในการนำไปปรับใช้