web analytics

ติดต่อเรา

กกร. ขอนำส่งสรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. ส.ค. 64

สรุปประเด็นแถลงข่าว

  • เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี จากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบตลอดครึ่งปีหลัง การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง แม้จะมีการใช้มาตรการ Lockdown มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการ Lockdown ณ ขณะนี้ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด ทั้งนี้ หากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่งประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาสที่ 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สองแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม
  • ธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และลูกจ้างแรงงาน สะท้อนจากลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นยอดเงินราว 2 ล้านล้านบาท โดยในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และการค้าขายทั่วไป ที่เปราะบางแล้ว การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบูรณาการมาตรการการจำกัดวงจรของการระบาด โดยการเร่งหาวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว และการเร่งกระจายการตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยเร็ว
  • ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤตและถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาคธุรกิจบอบช้ำและต้องใช้พลังมากในการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่อ่อนล้า เสถียรภาพของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง โดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่าร้อยละ 90 ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปในระยะนี้และฟื้นฟูเพื่อให้กลับมามีเสถียรภาพในระยะต่อไป ซึ่งเมื่อประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาครัฐจำเป็นสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมในเรื่องของความเพียงพอของงบประมาณ เพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่าร้อยละ 60 ต่อจีดีพี เป็นร้อยละ 65-70 เพื่อให้เหมาะสมกับภาระกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับร้อยละ 0 เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
  • เศรษฐกิจไทยยังวิกฤตและเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องยังสนับสนุนส่งออกของไทยในระยะต่อไป ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 10.0% ถึง 12.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2% โดยมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.

%YoY ปี 2563

(ตัวเลขจริง)

ปี 2564

(ณ ก.ค. 64)

ปี 2564

(ณ ส.ค 64)

GDP -6.1 0.0 ถึง 1.5 -1.5 ถึง 0.0
ส่งออก -6.0 8.0 ถึง 10.0 10.0 ถึง 12.0
เงินเฟ้อ -0.85 1.0 ถึง 1.2 1.0 ถึง 1.2
  • การยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้เป็นการปรับตามสถานการณ์ที่มีการระบาดในต่างจังหวัดเพิ่มโดยประเมิณผลกระทบเพิ่มเติม เป็น 300,000-400,000 ล้านบาท (พื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของ GDP ประเทศ) สถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายของประชาชนลดลงมาก  หากมีการล๊อคดาว์นแล้วจำเป็นต้องเร่งทำมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโดยเฉพาะสายพันธ์เดลต้าที่มีอัตราการกระจายวัคซีนมากและรวดเร็ว เพิ่มความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีน การทำ Home Isolation และ Company Isolation นอกจากนั้น ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการปิดการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ และทำให้การทะยอยผ่อนคลายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินไปได้ โดยภาคเอกชนตอนนี้เข้ามาร่วมแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการดูแลพนักงานของตนและปฏิบัติตัวตามมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะหลายแห่งได้มีการทำ Active Screening โดยใช้ Rapid Antigen Test Kit เพื่อเร่งแยกคนติดออกมาไม่ให้มีการระบาดในสถานประกอบการ รวมถึงมีการดูแลเชื่อมระบบกับโรงพยาบาลและ Hospital ต่างๆอีกด้วย โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกัน มีความรับผิดชอบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
  • เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90ออกไปอีก1ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2565 จนถึงวันที่31ธันวาคม2565)
  • เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นร้อยละ 60 ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากขึ้น
  • ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
  • รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
  • เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
  • ให้ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
  • ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19
  • ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ที่กำลังมีความต้องการสูง
  • สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ออกมาตรการช่วยหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทั้งมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า และ มาตรการเสริมสภาพคล่อง   ล่าสุด ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วน ออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ 29 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ระยะเวลายื่นคำขอตั้งแต่ 19 กรกฎาคม -15 สิงหาคม 2564 โดยจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
  • มาตรการทางการเงินช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลความคืบหน้าการยื่นคำขอตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ล่าสุด ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ธปท.รายงานตัวเลขคำขอสินเชื่อฟื้นฟู และได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 82,767 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 27,219 ราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับการอนุมัติ 3.0 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ความคืบหน้าตัวเลขโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนจำนวนทั้งสิ้น 1,060 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 18 ราย
  • สมาคมธนาคารไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการโครงการ Digital Supply chain finance เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME ให้เข้าถึงเงินทุน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะกลาง โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาช่วยธนาคารในการจัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อเป็นประโยชน์ใพิจารณาให้สินเชื่อได้มากขึ้น เงื่อนไขดีขึ้น คาดว่า เฟส 1 จะเสร็จสิ้น เพื่อนำไปใช้งานในไตรมาส 4 โดยสมาคมมีแผนขอการสนับสนุนไปยังภาครัฐในการให้ประโยชน์กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน platform การพัฒนา e-invoicing platform เป็นส่วนสำคัญของ Thailand Smart Financial Infrastructure  เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนแบบ many- to- many ทั้งในช่วงที่ต้องประคับประคองกิจการ และในช่วงฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด และสามารถเป็นฐานในการสร้างแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform : NDTP) สำหรับการค้าระหว่างประเทศต่อไป

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *