web analytics

ติดต่อเรา

มิชลิน นำเสนอ 2 นวัตกรรมเด่น ในงาน ‘มูฟวิ่ง ออน’ ประจำปี 2564

ในการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน ‘มูฟวิ่ง ออน’ ประจำปี 2564  มิชลินได้นำเสนอ 2 นวัตกรรมเด่นที่มุ่งแก้ปัญหาท้าทายหลักซึ่งส่งผลกระทบต่อการสัญจรในอนาคต โดยโซลูชั่นล่าสุดของมิชลินซึ่งได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งพร้อมทั้งประหยัดทรัพยากร จะมีบทบาทในฐานะปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายในการสร้างการสัญจรที่เป็นมิตรต่อโลกยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของงาน ‘มูฟวิ่ง ออน’ และระบบนิเวศของงานฯ

โครงการ WISAMO: นวัตกรรมโซลูชั่นที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการขนส่งสินค้าทางทะเล

โครงการ WISAMO ย่อมาจาก Wing Sail Mobility หรือการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยใบเรือ ภายใต้โครงการนี้ ได้มีการคิดค้นพัฒนาระบบใบเรือที่ยืดหดได้และพองลมอัตโนมัติ ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งได้กับทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือสำราญ ระบบใบเรือดังกล่าวเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างแผนกวิจัยและพัฒนาของมิชลิน ร่วมกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย ซึ่งมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์เรื่อง “ความยั่งยืนทุกด้าน” (All Sustainable) ของกลุ่มมิชลิน

ใบเรือชนิดพองลมใช้ประโยชน์จากลม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนที่ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถหาได้ทั่วไป และไม่มีวันหมด การออกแบบที่ปฏิวัติวงการนี้ไม่เพียงช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเรือ แต่ยังส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

ระบบใบเรือดังกล่าวซึ่งออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมงานโครงการ WISAMO สามารถติดตั้งได้กับเรือบรรทุกสินค้าและเรือสำราญส่วนใหญ่ โดยเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้งานกับเรือบรรทุกรถยนต์ (Ro-Ro Ships), เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carriers) และเรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Tankers) ระบบใบเรือนี้สามารถติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดเรือสำหรับเรือที่สร้างใหม่ หรือติดตั้งเพิ่มในเรือที่ผ่านการใช้งานแล้วได้

ใบเรือดังกล่าวครอบคลุมระยะการใช้งานที่หลากหลายมากที่สุดในตลาด โดยพิสูจน์แล้วว่าให้ประสิทธิภาพสูงสำหรับการเดินเรือในทิศทางต่าง ๆ หลายทิศทาง โดยเฉพาะเมื่อกางใบเรือเต็มที่ (เหนือลม) ทั้งยังสามารถใช้ได้กับทุกเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเล เสากระโดงแบบยืดหดได้ที่สามารถพับเก็บช่วยให้สะดวกเมื่อเรือเข้าเทียบท่าและลอดใต้สะพาน  นอกจากนี้ ระบบใบเรือนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้สูงถึง 20%[1]

การผสานความร่วมมือกับ ‘มิเชล เดส์โชโย่’ (Michel Desjoyaux) ผู้บังคับการเรือที่มีชื่อเสียงระดับโลกและทูตของโครงการ WISAMO ช่วยให้ทีมวิจัยของมิชลินสามารถพัฒนานวัตกรรมใบเรือได้สมบูรณ์แบบ ความคิดเห็นและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของนักเดินเรือผู้มีประสบการณ์รายนี้คาดว่าจะช่วยให้นวัตกรรมใบเรือผ่านการทดสอบใช้งานท่ามกลางสถานการณ์จริงของการขนส่งสินค้าทางทะเล  ทั้งนี้ มร.เดส์โชโย่ ได้กล่าวไว้ว่า “ประโยชน์ของการขับเคลื่อนด้วยแรงลมก็คือพลังงานลมเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีค่าใช้จ่าย มีอยู่ทั่วไป และไม่มีประเด็นให้ถกเถียงหรือต่อต้านใด ๆ จึงถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับอนาคตเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเรือบรรทุกสินค้า”

ระบบใบเรือ WISAMO จะติดตั้งกับเรือบรรทุกสินค้าเป็นครั้งแรกในปี 2565 โดยมิชลินคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้หลังจากขั้นตอนการทดสอบเสร็จสิ้นสมบูรณ์

โครงการ WISAMO เกิดขึ้นจากการที่มิชลินมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการสัญจรทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยไม่รอให้ต้องกำหนดกฎระเบียบขึ้นในอนาคต  ทั้งนี้ มิชลินได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการสัญจรทางทะเลร่วมด้วย  นอกจากนี้ ภายใต้แผนกลยุทธ์องค์กรที่กำหนด กลุ่มมิชลินยังมุ่งสร้างการเติบโตส่วนหนึ่งด้วยการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น

 

ยางรถแข่งสมรรถนะสูงซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนถึง 46%

ในการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน ‘มูฟวิ่ง ออน’ ประจำปี 2564  มิชลินยังได้เผยโฉมยางรถแข่งซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนถึง 46% โดยติดตั้งมากับรถแข่งต้นแบบ GreenGT Mission H24 ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับการแข่งขันประเภท ‘เอ็นดูรานซ์ เรซซิ่ง’ (Endurance Racing)

ด้วยนวัตกรรมล่าสุดที่พัฒนาขึ้นสำหรับกีฬามอเตอร์สปอร์ตโดยเฉพาะ มิชลินค้นพบวิธีผลิตยางรถยนต์จากวัสดุที่มีความยั่งยืนสูง โดยยังคงให้สมรรถนะบนสนามแข่งที่เหนือกว่า

สัดส่วนการใช้วัสดุที่ยั่งยืนในระดับสูงเป็นผลจากการเพิ่มปริมาณยางธรรมชาติและการใช้คาร์บอนแบล็กซึ่งได้จากการรีไซเคิลยางที่สิ้นอายุใช้งานแล้ว

วัสดุยั่งยืนประเภทอื่นซึ่งมาจากแหล่งชีวภาพหรือได้จากการรีไซเคิลที่นำมาใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ได้แก่ วัสดุที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เปลือกส้ม, เปลือกมะนาว, น้ำมันดอกทานตะวัน, เรซินสน (Pine Resin) และเหล็กกล้าที่ได้จากการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม

กีฬามอเตอร์สปอร์ตซึ่งเป็นเสมือนห้องทดลองทางเทคโนโลยีในโลกแห่งความจริง ช่วยให้มิชลินสามารถพัฒนาและทดสอบโซลูชั่นไฮเทคใหม่ ๆ ในสภาพแวดล้อมการใช้งานสุดหฤโหด ภายใต้ความร่วมมือทางนวัตกรรมครั้งนี้ มิชลินได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำวัสดุที่ยั่งยืนมาใช้ผลิตยางล้อในสัดส่วนที่สูงขึ้นโดยยังคงให้สมรรถนะที่ดีดังเดิม

ในการประชุมสุดยอดฯ ปีนี้ มิชลินได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะใช้วัสดุที่ยั่งยืน 100% ในการผลิตยางล้อทุกประเภทให้ได้ภายในปี 2593 โดยเป้าหมายระยะแรกของกลุ่มมิชลินคือการใช้วัสดุที่ยั่งยืนในการผลิตยางล้อให้ได้ถึง 40% ภายในปี 2573

นอกจากจะใช้วัสดุที่ยั่งยืนในการผลิตยางล้อแล้ว มิชลินยังนำกระบวนการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Design Processes) มาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ยางล้อในทุกช่วงวงจรชีวิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบและการผลิต ไปจนถึงการใช้งานบนถนนและการรีไซเคิล

ฟลอรองต์ เมอเนโกซ์ (Florent Menegaux) ประธานกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า “ค่านิยมหลักของมิชลินสอดคล้องกับของงาน ‘มูฟวิ่ง ออน’ และพันธมิตรผู้สนับสนุนการจัดงานฯ กล่าวคือ เรามีความเชื่อว่าการสัญจร หรือในความหมายกว้าง ๆ ก็คือ ‘การเคลื่อนที่’ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นต้นกำเนิดของความก้าวหน้า  นวัตกรรมโซลูชั่นทั้ง 2 รูปแบบที่เรานำเสนอในการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านการสัญจรอย่างยั่งยืนปีนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ที่จับต้องได้และใช้งานได้จริง ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของมิชลินที่จะทำให้การสัญจรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

[1] อัตราส่วนนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของเรือ เส้นทางเดินเรือ หรือสภาพอากาศ

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *