ทีเส็บ ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน พัฒนายกระดับบุคลากรไมซ์รองรับธุรกิจสู้โควิด
ทีเส็บ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคการศึกษาด้านไมซ์พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม DMC และ IVA สร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานการติดตาม ควบคุม และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับนักเดินทางต่างชาติเพื่อป้องกันโควิด 19 รองรับธุรกิจไมซ์
หลักสูตรและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากร และมาตรการการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโครงการ MICE Hygiene Discipline Guidelines (แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัย สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นการฝึกอบรมที่ดำเนินการโดยทีเส็บ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เครือข่ายภาคการศึกษาไมซ์ (MICE Academic Cluster) ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตามมาตรฐานการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับนักเดินทางต่างชาติเพื่อป้องกันโควิด 19 เป็นการยกระดับศักยภาพการบริการด้านการจัดการเดินทางในรูปแบบใหม่ของบริษัทที่ดูแลบริหารการเดินทาง หรือ Destination Management Company (DMC) และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ หรือ International Visitor Assistant (IVA) เพื่อรองรับนักธุรกิจชาวต่างชาติในอนาคต
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. เรื่องข้อตกลงความร่วมมือช่องทางพิเศษ (Special Arrangement) เพื่ออนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ตามข้อตกลงพิเศษกับต่างประเทศ (ยกเว้นการกักตัว 14 วัน) ที่มีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ของการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในระยะสั้น โดยกำหนดโควต้าจำนวนผู้เดินทาง และมาตรการที่ผู้เดินทางต้องปฏิบัติตามทั้งก่อนการเดินทางและระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทีเส็บได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่างประเทศ นำเสนอขั้นตอนการอนุญาตเข้าประเทศ โดยต้องมีผู้ติดตามทางการแพทย์สาธารณสุข และบริษัทที่ดูแลบริหารการเดินทาง หรือ DMC (Destination Management Company) เพื่อจัดและบริหารแผนการเดินทาง สำหรับนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในระยะสั้นแบบไม่กักตัว ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทางกลับประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างมาตรฐานการบริการด้านความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย เรียนรู้เกี่ยวโควิด 19 และการป้องกัน ผนวกกับการให้บริการที่ต้องรักษามาตรฐานไม่ให้เสียชื่อในฐานะเจ้าบ้านที่ดีที่มีการบริการได้มาตรฐาน Beyond Expectation ตามแบบ Thai Hospitality ที่มีชื่อเสียง และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างงานแก่บริษัทให้บริการต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ไกด์ที่จะยกระดับความสามารถ หรือ Re-Skill ตามนโยบายของภาครัฐ เตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการติดตามตัวและการสืบสวนโรคที่ดีจนนำไปสู่การตรวจหาโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงได้ทันเวลาและสามารถควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมควบคุมโรคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นำความรู้ เทคนิค และประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากร และมาตรการการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโครงการ MICE Hygiene Discipline Guidelines ในครั้งนี้ ไปใช้ในการปฏิบัติจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางกลุ่มไมซ์ ปลอดภัยไร้โรค ในอนาคตอันใกล้นี้
ด้าน นายปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะที่ได้รับนโยบายจากทีเส็บ ซึ่งเป็นผู้บริหารการจัดการอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดฝึกอบรมนี้มุ่งเน้นอบรมให้เกิดองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านต่างๆ ได้แก่ 1.มีความรู้ ความเข้าใจ การคัดกรองผู้ติดเชื้อและทักษะด้านสาธารณสุขเบื้องต้น 2.มีความรอบรู้และทักษะการบริการ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี และการประสานงาน 3.มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ (English for Specific Purpose: ESP) เพื่อการสื่อสารและเจรจาต่อรองกับคณะ/ผู้ไม่มีสัญชาติไทยตลอดการเดินทางในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม 4.มีความรู้ ความเข้าใจระบบการเข้าเมือง และการจัดการข้อมูลของผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ 5.มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เคารพความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่าง รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เปิดเผยความลับของผู้ถูกคุมไว้สังเกตจากต่างประเทศให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้สู่บุคลากร บริษัทดูแลบริหารการเดินทาง หรือ Destination Management Company (DMC) และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ หรือ International Visitor Assistant (IVA) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้กว่า 150 ท่าน