GIT พัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า
โครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) พร้อมโชว์ศักยภาพงานออกแบบท้องถิ่นสุดบรรเจิด สู่เวทีสากล
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า “ในฐานะที่ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ ได้มอบหมายให้สถาบันลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และอย่างยิ่งในปี 2563 นี้ ที่เกิดวิกฤติโควิด 19 จึงได้เร่งให้สถาบันได้ลงไปพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดกระจายรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในภูมิภาค อย่างเช่นท้องถิ่นในโคราช ที่มีการนำดินด่านเกวียนมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ สามารถสร้างมูลค่าให้กับดินด่านเกวียนซึ่งถือได้ว่าเป็นดินที่มีลักษณะเฉพาะให้มีมูลค่าเพิ่มกว่าเดิมมากมายหลายเท่าตัว”
สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ ที่ได้ดำเนินการในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากถึงถึง 329 ราย ทะลุเป้าที่ตั้งไว้กว่า 129 ราย และได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเข้าร่วมอบรมเชิงลึก จากทั้ง 5 จังหวัด จำนวน 20 ราย มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบแถวหน้าของประเทศ เพื่อพัฒนา และออกแบบเครื่องประดับต้นแบบที่มาจากแนวคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ของ “อีสานใต้” อย่างแท้จริง
ปัจจุบันสถาบันได้ผลิตเครื่องประดับต้นแบบอีสานเดิ้น จำนวน 5 Collection ซึ่งมีรายละเอียดและแรงบันดาลใจดังนี้
- จังหวัดนครราชสีมา ผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย ร่วมกับนักออกแบบแบรนด์ Trimode Studio คุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา พัฒนาผลงานต้นแบบเครื่องประดับโดยได้แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบมาจากเรื่องราวที่เมืองโคราชเป็นจุดพักของการเดินทางติดต่อค้าขายในสมัยก่อน จึงต้องการสะท้อนถึงวิถีการเดินทางและศักยภาพดินโคราชที่สามารถเผาได้หลากหลาย
ชื่อคอลเลคชั่น: The Road & The Wheels
- จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย ร่วมกับนักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Basic Teeory นายวรชัย ศิริวิภานันท์ พัฒนาผลงานต้นแบบเครื่องประดับโดยได้แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบมาจากความสนุกสนาน และความมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพื้นที่รอบๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีความสนุกสนาน ที่เป็นจุดเด่นและมีความเฉพาะตัวของจังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อคอลเลคชั่น: Joyfull…Joyfull
- จังหวัดสุรินทร์ ผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย ร่วมกับนักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Saprang Craft Jewelry นางสาวสิริการย์ จิรัฏฐ์ภาสกรกุล พัฒนาผลงานต้นแบบเครื่องประดับโดยได้แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบมาจากดอกกันเกรา ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าของจังหวัด รวมไปถึงความเชื่อต่างๆ ในจังหวัด เช่น จาร ที่ลักษณะคล้ายตะกรุดในภาคกลาง
ชื่อคอลเลคชั่น: จาร จารึก
- จังหวัดศรีสะเกษ ผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย ร่วมกับนักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Patipat นายปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ พัฒนาผลงานต้นแบบเครื่องประดับ โดยได้แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบมาจากดินภูเขาไฟ และลาวา และใช้วัสดุที่อยู่ในเทรนด์ของการรักษ์โลกมานำเสนอในรูปแบบที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต
ชื่อคอลเลคชั่น: Re–Lava
- จังหวัดอุบลราชธานี นักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Sumphat Gallery นายรัฐ เปลี่ยนสุข ร่วมกับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ 4 ราย พัฒนาผลงานต้นแบบเครื่องประดับโดยได้แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบมาจากโครงสร้างสามเหลี่ยมที่เกิดจากการพับใบตอง การทับซ้อนของการห่อกระทง และการร้อยดอกไม้ หรือที่ทางอีสานเรียกกันว่า เสียบดอกไม้ เช่น พิกุลเสียบ มะลิเสียบ รวมถึงการนำเอาโครงสร้างเครื่องประดับโบราณของจังหวัดอุบลราชธานีมาเชื่อมต่อกับประเพณีแล้วทำให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น กระจอน และประเกือม เพื่อสร้างเรื่องราวเสมือนเป็นการเข้าไปประกอบพิธีกรรมที่จังหวัดฯ
ชื่อคอลเลคชั่น: Blossm Facets
และเพื่อต่อยอดผลงานการออกแบบอัตลักษณ์อีสานใต้สู่สากล จึงได้เร่งให้สถาบันได้ขยายช่องทางการตลาด โดยวางแผนการนำเครื่องประดับทั้ง 5 Collection และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ไปร่วมออกงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติ อีกทั้งยังผลักดันให้เข้าสู่การจำหน่ายสินค้าผ่าน Platform ออนไลน์ อีกทั้งยังให้ขยายผล สู่การต่อยอดโครงการเครื่องประดับอีสานใต้สู่สากล ในปี 2564 ที่มุ่งเน้นความสามารถในการพัฒนาด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาวต่อไป