โตโยต้า ขยายผลการดำเนินงานโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ภายใต้โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ประจำปี 2563 จำนวน 6 ราย โดยได้นำองค์ความรู้ที่เกิดจากการทำธุรกิจของโตโยต้าทั่วโลกกว่า 75 ปี อาทิ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) มาถ่ายทอดและร่วมปรับปรุง พร้อมทั้งติดตามผลการไคเซ็นด้วยตนเอง เพื่อยกระดับธุรกิจที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ก้าวสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ประจำภูมิภาค พร้อมเดินหน้าขยายผลโครงการสู่อีก 10 ธุรกิจ เพื่อเป็นรากฐานในการส่งมอบความรู้สู่ผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อไป
“โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” คือ โครงการนวัตกรรมสังคมของโตโยต้า ที่มุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากผ่านการพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา โตโยต้าได้ร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายฯ ในการเฟ้นหาธุรกิจที่มีความต้องการปรับปรุงธุรกิจ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพนักงานเกษียณอายุของโตโยต้าที่มีประสบการณ์ด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้าและหลักการไคเซ็น เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้า เข้าไปถ่ายทอดและปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาของธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงหลักการแก้ปัญหาตามแนวปฏิบัติของโตโยต้าในทุกขั้นตอน และนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์มีการกำหนดผลสำเร็จในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยวัดผลผ่าน 5 ดัชนี ชี้วัดทางธุรกิจ อันได้แก่ ประสิทธิผลการผลิต คุณภาพ (ลดของเสียที่เกิดจากการผลิต) การส่งมอบ การจัดการสินค้าคงคลัง และ การบริหารต้นทุนในกระบวนการ โดยใช้การประยุกต์แนวทางการนำองค์ความรู้มาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนนั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานปรับปรุงต่อได้ด้วยตนเองอย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ธุรกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างการจ้างงานในท้องถิ่น สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยต่อไป
โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้ทำการส่งมอบโครงการฯ ที่ผ่านกิจกรรมการปรับปรุงธุรกิจ ระหว่างปี 2562-2563 แก่ผู้ประกอบการ 6 ราย โดยมีรายละเอียดธุรกิจ และ ผลสำเร็จในการปรับปรุงดังนี้
ลำดับ | ธุรกิจ | ผลิตภัณฑ์ | การปรับปรุงธุรกิจ |
1 | บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด
จ.สระบุรี |
ผลิตและจำหน่าย
เชื้อเห็ด |
ผลิตภาพ
> ปรับสายการผลิตในกระบวนการการกรอกข้าวฟ่างใหม่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,000 ขวด/วัน รายได้เพิ่มขึ้น 364,000 บาท / เดือน |
การจัดการสินค้าคงคลัง
> สร้างมาตรฐานการจัดการวัตถุดิบข้าวฟ่าง ลดต้นทุนจมได้กว่า 140,000 บาท |
|||
2 | บริษัท ดีไลท์ 88 จํากัด
จ.อุบลราชธานี |
ก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป
จั๊บจั๊บ |
ผลิตภาพ
> ปรับปรุงกระบวนการอบเส้น เพื่อลดเวลาการอบ > ปรับสายการผลิตในกระบวนการบรรจุเส้นใส่ซอง โดยลดงานไม่จำเป็น ผลผลิตเพิ่มขึ้น 5,824 ซอง / เดือน |
คุณภาพ
> สร้างมาตรฐานในกระบวนการการปั้นเส้นให้มีความสม่ำเสมอ > ปรับปรุงขั้นตอนการบรรจุซอง ลดความสูญเสียในกระบวนการ ลดของเสียในกระบวนการผลิตได้ 65,442 บาท / เดือน |
|||
3 | บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด
จ.ตรัง |
ของเล่นไม้
Plantoy |
การจัดการสินค้าคงคลัง
> สร้างมาตรฐานการจัดการสินค้าคงคลังโดยใช้ระบบ Just in time ทั้งส่วนของการวางแผนการขาย-ผลิต และ การจัดเตรียมวัตถุดิบ ลดจำนวนสินค้าคงคลังและต้นทุนในกระบวนการ ลงได้ 18.81 ล้านบาท |
4 | กลุ่มหมอนฟักทอง อสม.
จ.มหาสารคาม |
หมอนสุขภาพ | ผลิตภาพ
> ปรับเรียบกระบวนการ ช่วยลดการรองาน ผลิตสินค้าหมอนรองคอได้เพิ่ม จาก 128 ชิ้น/วัน เป็น 160 ชิ้น/วัน (25%) การส่งมอบ > ปรับปรุงกระบวนการขนส่งสินค้า โดยกำหนดงานมาตรฐานที่ออกแบบให้ สามารถใช้ทรัพยากรในการขนส่งต่อรอบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยลด ต้นทุนการขนส่งลง 34% ลดต้นทุน 2.44 บาท / ชิ้น เพิ่มกำไร 60,725 บาท / เดือน |
5 | บริษัท สันติภาพ(ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด
จ.ชุมพร |
ปลากระป๋อง
ตรานกพิราบ |
ผลิตภาพ
> ลดความสูญเสียในสายการผลิต และกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น ลดความสูญเสียในสายการผลิตได้ 20% |
6 | หจก.สักสยามอุตสาหกรรม
จ.สุพรรณบุรี |
กรอบรูปไม้ | การจัดการสินค้าคงคลัง
> ถ่ายทอดหลักการบริหารสินค้าคงคลังแบบ Just In Time แยกประเภทสินค้า เคลื่อนไหวเร็ว-ช้า-ไม่เคลื่อนไหว > แนะแนวทางการจัดการสินค้าเกินจำเป็นเพื่อลดต้นทุนจม ลดจำนวนสินค้าคงคลังและต้นทุนในกระบวนการ ลงได้กว่า 2 ล้านบาท |
นอกจากนี้ ในปี 2563-2564 บริษัทได้ขยายผลโครงการฯ อย่างต่อเนื่องไปยังอีก 10 ธุรกิจ รวมถึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันและยกระดับธุรกิจที่มีศักยภาพสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ให้ครบใน 18 จังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์ทางการค้าของกระทรวงมหาดไทย ภายในปี 2565 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อประสบการณ์การปรับปรุงธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตลอดจนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทยต่อไป