เชลล์ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้ และทักษะผู้ประกอบการระดับชุมชน
การรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกคน ด้วยเหตุนี้เอง การผสานความร่วมมือในสังคมและชุมชนบนรากฐานการมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับชุมชน จำเป็นต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับเชลล์ ความยั่งยืนคือ การส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างรับผิดชอบ ด้วยวิธีการดำเนินงานที่สนับสนุนความร่วมมือและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย ในด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เชลล์ ร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคม ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควบคู่ไปกับการส่งมอบพลังงานให้กับลูกค้าและสังคมไทย ภายใต้แนวคิด การส่งเสริมการเรียนรู้โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ หรือ Community Skill and Enterprise Developlent (CSED) โดยหนึ่งในนั้นคือโครงการ “เชลล์ เติมสุข” โครงการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับนักเรียนผู้สมควรได้รับโอกาสและผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว เพื่อให้พวกเขามีทักษะทางอาชีพ เช่น การทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ สิ่งเหล่านี้คือ การเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับชุมชนของพวกเขาต่อไป
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์หลังการระบาดของโควิด-19 เชลล์จึงได้ให้ความสำคัญกับสามเรื่องหลักในระยะของการฟื้นฟูนี้ คือ การห่วงใยดูแลผู้คน การสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการสร้างคุณค่าจากการดำเนินธุรกิจเพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เหล่านี้หมายถึงการทำหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพ และสุขอนามัยที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลดการ
ระบาดของโรคและผลกระทบจากโควิด-19 จากภายในสู่ภายนอกองค์กร ในขณะเดียวกัน เชลล์ยังคงเดินหน้าส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำเป็นต่อสังคมด้วยความรับผิดชอบ เรามุ่งหวังให้ชุมชนต่างๆ สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากและกลับมาเติบโตอีกครั้ง แนวคิด CSED นี้จึงตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านสังคมของเชลล์ในการช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนอย่างต่อเนื่อง”
เชลล์ตระหนักในความสำคัญของโรงเรียนซึ่งเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และสร้างการพัฒนา จึงได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเด็ก เยาวชน และชุมชน โดยร่วมมือกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ภายใต้ โครงการ “เชลล์เติมสุข” ทั้งนี้ นักเรียนและชาวชุมชนผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการฝึกทักษะอาชีพ ทั้งการเกษตรสมัยใหม่และความรู้ในการประกอบการ เพื่อให้พวกเขามีทักษะในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ สร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว และสร้างเสริมชุมชนที่ดี
ปัจจุบัน โครงการ “เชลล์เติมสุข” ภายใต้แนวคิด CSED ซึ่งมีเงินสนับสนุนเริ่มต้นจำนวน 27 ล้านบาท ได้ขยายการเรียนรู้และแนวคิดการพึ่งพาตนเองไปสู่นักเรียนกว่า 46,000 คน ใน 91 โรงเรียนทั่วประเทศ โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 และได้สร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชุมชนเป็นเงินกว่า 8.9 ล้านบาท (คิดเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางเกษตร 2.6 ล้านบาท และรายได้จากการทำธุรกิจผ่านกองทุนกู้ยืม 6.3 ล้านบาท) และมีธุรกิจของนักเรียนและชุมชนถึง 900 แห่งที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนกู้ยืม นอกจากนี้ นักเรียนจำนวน 26 คนยังได้รับโอกาสเข้าร่วมฝึกทักษะอาชีพที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ และเด็กนักเรียน 5 คนในจำนวนนี้ ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของสถานีบริการของเชลล์หลังจบการฝึกงาน
“เชลล์ ตั้งใจที่จะดำเนินโครงการในส่วนขยายต่อไป เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเยาวชน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เรายินดีอย่างยิ่งที่โครงการ ‘เชลล์เติมสุข’ ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างทักษะการเกษตรที่ยั่งยืน เพิ่มพูนความรู้ผู้ประกอบการ และช่วยให้ชุมชนเพิ่มพูนโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเชลล์ ในการเสริมสร้าง ‘ชีวิตที่มีสุข’ ให้กับคนไทยต่อไป” นายปนันท์ กล่าวสรุป