เนสท์เล่ ชวนรักษ์โลก แนะวิธีจัดการขยะในครัวแบบดีต่อเรา ดีต่อโลก
เพราะโลกใบนี้เป็นของเราทุกคน การร่วมสร้างพลังเล็ก ๆ ในการช่วยรักษ์โลกจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดภาระให้กับโลกใบนี้ได้ตั้งแต่ที่บ้าน เพียงแค่ใส่ใจการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม และแยกขยะที่เกิดขึ้นในครัวเรือนให้เป็นนิสัย ก็เท่ากับได้ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เนสท์เล่ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” แบ่งปันเทคนิคในการจัดการขยะครัวเรือนแบบง่าย ๆ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และส่งเสริมให้ทุกครอบครัวหันมาเริ่มต้นรักษ์โลกอย่างยั่งยืน
นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “เนสท์เล่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและมีโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี และยังให้ความสำคัญกับการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต เริ่มตั้งแต่บทบาทการเป็นผู้ผลิตที่รับผิดชอบ ด้วยการเดินหน้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไอศกรีมและผลิตภัณฑ์กาแฟ โพรเทค โพรสลิม การเปลี่ยนมาใช้อะลูมิเนียมสำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟกระป๋องเนสกาแฟ และการลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในผลิตภัณฑ์น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ พร้อมสนับสนุนครอบครัวไทยให้มีส่วนร่วมรักษ์โลก ด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง”
ล่าสุดเนสท์เล่ได้ร่วมกับเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” แบ่งปันเทคนิคการลดขยะโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการคัดแยกและจัดการขยะในครัวเรือนประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะสม นอกเหนือจากการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตอย่างใส่ใจโลก
นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีขยะประมาณ 27 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยคนไทยสร้างขยะประมาณ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดย 80% เป็นขยะที่นำไปกำจัดแบบไม่ถูกวิธี ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกำจัด ยิ่งในช่วงที่มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ปริมาณขยะในครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะปกติขยะในครัวเรือนก็รีไซเคิลยากอยู่แล้วถ้าไม่มีการจัดการแบบถูกวิธี ทำให้โอกาสที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลยากขึ้น
“ผมไม่ได้มองว่าคนไทยละเลยหรือมองข้ามการแยกขยะ แต่หลายคนอาจมองไม่เห็นภาพรวมของกระบวนการแยกขยะที่เป็นระบบ คิดว่าแยกไปสุดท้ายก็ถูกเก็บไปรวมกันอยู่ดี เลยไม่มีกำลังใจที่จะทำ ดังนั้นเราต้องช่วยกันรณรงค์และสร้างห่วงโซ่ของการจัดการระบบให้เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่จุดเล็ก ๆ อย่างขยะในครัว ทุกบ้านสามารถช่วยโลกลดขยะได้ตั้งแต่การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถย่อยสลายหรือเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่าย”
เทคนิคง่าย ๆ ในการจัดการขยะในครัวแบบดีต่อเรา ดีต่อโลก
- ถังขยะในครัวควรมีกี่ใบ
ธรรมชาติของขยะในครัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่มาจากเศษอาหารจากการกิน การตัดแต่ง ประมาณ 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ จึงแนะนำว่าในครัวควรมีถังขยะ 3 ใบ ใบแรกสำหรับใส่เศษอาหาร ใบที่สองเป็นถังขยะสะอาดส่งต่อได้สำหรับขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และ ใบที่สามเป็นขยะทั่วไปเพื่อส่งฝังกลบ ซึ่งถังนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าไม่จำเป็นอย่าทิ้ง เพราะปลายทางของขยะในถังนี้ คือ หลุมฝังกลบเท่านั้น
- ขยะเศษอาหาร
แยกถังขยะในครัวแล้ว หลักการง่าย ๆ ในการจัดการขยะ คือ อย่านำขยะจากเศษอาหารที่ทานเหลือ หรือขยะอินทรีย์ไปรวมกับขยะอื่น ๆ ควรแยกทิ้งโดยเฉพาะ ถ้าบ้านไหนมีบริเวณที่มีพื้นดิน สามารถนำขยะที่เป็นเศษอาหาร เศษผักผลไม้ เศษเนื้อสัตว์ เศษอาหารเหลวที่มีไขมันสูง ไปหมักปุ๋ย ซึ่งหากทำถูกวิธีจะไม่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น แต่ถ้าบ้านไหนที่ไม่มีพื้นดิน อาจจะแยกทิ้ง หรือ ใช้เครื่องหมักหรือถังหมักที่เป็นระบบปิดแทน ส่วนเศษอาหารเหลวน้ำใส ให้ทิ้งลงระบบระบายน้ำได้เลย
- ขยะบรรจุภัณฑ์อาหาร
อย่างถุงใส่ผลไม้หรือผักส่วนที่เป็นฟิล์มเหนียวยืดได้ อาจจะลอกสติกเกอร์ราคาออก หรือถุงใส่ขนมปังหรือถุงน้ำตาล พวกนี้สามารถส่งต่อไปยังโครงการ “มือวิเศษ×วน” โดย PPP Plastics ในการช่วยกำจัดพลาสติกอย่างถูกวิธี ส่วนถุงหิ้วที่สะอาดก็สามารถพับเก็บไว้ใช้ซ้ำได้ถ้าต้องการ
- ขยะบรรจุภัณฑ์อาหารทั่วไป
แนะนำให้ทำความสะอาดและแยกประเภทไว้ เช่น พลาสติกกล่องถาดเกรด PP ที่ใช้รองเนื้อสัตว์หรืออาหารต่าง ๆ ให้ล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากให้แห้ง ส่วนขวดพลาสติก ขวดแก้ว ให้เทของภายในให้หมดแล้วแยกใส่ถุงไว้ ส่งขายต่อซาเล้งได้ โดยเฉพาะภาชนะพลาสติกที่ขายได้ง่าย คือ ขวดน้ำดื่มใส PET และพลาสติกที่มีสัญลักษณ์ PP หรือ PE-HD ส่วนกระป๋องเครื่องดื่มที่ทำมาจากอะลูมิเนียม ให้บีบหรือเหยียบให้แบนเพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บ และสามารถส่งขายซาเล้งได้เลย
- ไม่อยากให้ขยะเยอะทำอย่างไร
การรักษ์โลกมีหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การตระหนักและลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น เริ่มตั้งแต่การวางแผนก่อนการซื้อ ถ้าจำเป็นต้องซื้อ ให้ถามตัวเองว่าสิ่งที่ซื้อเป็นการสร้างภาระต่อโลกหรือเปล่า สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ นำไปรีไซเคิลได้หรือไม่ หรืออย่างเวลาไปจ่ายตลาด แนะนำให้พกถุงผ้าแบบตาข่ายเพื่อนำไปใส่ผักสด ถ้าเป็นเนื้อสัตว์อาจจะพกกล่องไปใส่เพื่อลดขยะ หรือ ถ้าจำเป็นต้องซื้อให้เลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีระบบการจัดการชัดเจน เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ เป็นวัสดุที่มีระบบการจัดการชัดเจน ต่อให้เอาไปทิ้งที่ไหน ถ้าคนเก็บขยะมาเจอ ก็จะเก็บไปขาย เช่นเดียวกับขวดพลาสติกใส PET ก็มีระบบการรีไซเคิลที่ชัดเจน
“สิ่งที่น่าดีใจ คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ปรับตัวให้มาใส่ใจกระบวนการผลิตที่รักษ์โลกมากขึ้น เน้นการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ลดการสร้างคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายคนลุกขึ้นมาช่วยกันรักษ์โลก” เปรม กล่าวทิ้งท้าย