web analytics

ติดต่อเรา

เดินเท้า ลงเรือ ตะลุย 5 พิพิธภัณฑ์เขตพระนคร

หลังจากหยุดอยู่บ้านกันมานานหลายเดือน ทั้งหยิบหนังสือมาอ่าน ดูซีรีส์จนฉ่ำตา จิบกาแฟกับเจ้าแมวขี้อ้อน เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงอยากออกเดินทางให้สายลมประทะหน้ากันอีกครั้งซะแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การออกเดินทางไปต่างจังหวัดยังไม่สะดวกมากนัก วันนี้เราเลยจะขอพาทุกคนมาเที่ยวใกล้ ๆ กันก่อนที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในเขตพระนคร ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยกันเลย

เขตพระนครหรือบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่ที่มีกลิ่นอายแห่งอดีตซุกซ่อนอยู่ และมันจะยิ่งชัดเจนหากได้ไปสัมผัส  5 พิพิธภัณฑ์ที่เราจะพาไปในวันนี้ คือ มิวเซียมสยาม, หอศิลป์กรุงไทย, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ และ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ ชื่อในปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้ง 5 แห่งนี้ใช้บัตร Thailand Museum Pass เข้าชมได้ฟรี แถมด้วยที่เที่ยวระหว่างทางสองฝั่งแม่น้ำลำคลองที่สามารถแวะกิน ชิม ชม กันได้อย่างไม่มีเบื่ออีกด้วย

 

มิวเซียมสยาม 

เริ่มที่แรกกันที่มิวเซียมสยาม ซึ่งวันนี้เราจะเดินทางกันโดยใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก เริ่มจากการนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า เรือธงส้ม มาลงที่ท่ายอดพิมาน แล้วเดินต่อลัดเลาะเข้าซอยข้างโรงเรียนราชินี เดินมาไม่ไกลนักก็จะเจอกับสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังตึกเก่าสีเหลืองอมส้ม เดินเลยมานิดเดียวก็จะมองเห็น ‘มิวเซียมสยาม’ อยู่ทางด้านซ้ายมือ

หรือหากใครอยากจะชมวิวเพิ่มอีกสักหน่อยสามารถลงที่ท่าเตียนได้อีกด้วย ซึ่งท่าเรือนี้จะแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวเพราะจากตรงนี้สามารถเดินไปชมสถานที่สำคัญ ๆ อย่าง พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนฯ หรือหาร้านสวย ๆ แถวตลาดท่าเตียนนั่งชมวิววัดอรุณฝั่งตรงข้าม ก่อนจะเดินไปมิวเซียมสยามก็ได้

ที่ดินของมิวเซียมสยามและสถานีตำรวจพระบรมมหาราชวังเคยใช้เป็นวังถึง 5 วังในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้แบ่งที่ดินเพื่อสร้างเป็นสถานีตำรวจนครบาลและตึกกระทรวงพาณิชย์ ในปัจจุบันพื้นที่ในบริเวณตึกกระทรวงพาณิชย์ถูกเปลี่ยนเป็น  ‘มิวเซียมสยาม’ พิพิธภัณฑ์แสนเก๋ที่ทำให้เรามองภาพพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ข้อมูลน่าเบื่อเปลี่ยนไปเลย

‘มิวเซียมสยาม’ พิพิธภัณฑ์ที่เล่าความเป็นไทยไว้ในหลากหลายมุมอง บ้างก็แซะไว้อย่างเจ็บแสบ บ้างก็ทำให้เราได้ย้อนกลับมาสำรวจความคิดความเชื่อตัวเองอีกครั้ง ในนิทรรศการหลักชุด ‘ถอดรหัสไทย’ เล่าเรื่องผ่านทั้ง 14 ห้องนิทรรศการ

ในชั้น 2 เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ “นางกวักตัวใหญ่” สูงราว 4 เมตร เจ้าหน้าที่บอกเราว่า เธอมีชื่อว่า “แม่เอิบทรัพย์” เป็นนางกวักที่แตกต่างจากที่เคยเห็นทั่วไปคือมีรูปร่างอวบอิ่ม ตากลมโตน่ารัก ที่มาคอยกวักมือเรียกทุกคนให้มาเยือนสถานที่แห่งนี้เพื่อเรียนรู้กันอย่างเพลิดเพลินนั่นเอง

ก่อนจะไปที่อื่นกันต่อเดินเลยไปแถวปากคลองตลาดกันสักนิดมีร้านที่อาจเคยเห็นผ่านตาใน pinterest ซ่อนตัวอยู่ อย่างร้าน นภสร หรือร้าน Floral Cafe At Napassorn คาเฟ่ซึ่งอยู่ชั้นบนของร้านดอกไม้ นอกจากหอมดอกไม้อบอวลทั่วทั้งตลาดแล้วยังได้กลิ่นกรุ่นของกาแฟอีกด้วย

ตอนนี้มิวเซียมสยามเปิดให้บริการแล้วโดยเข้าชมได้ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. หยุดวันจันทร์ ค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 100 บาท นักเรียนนักศึกษา 50 บาท แต่ถ้าพกบัตร Thailand Museum Pass ไปเข้าชมฟรี!

 

หอศิลป์กรุงไทย

เมื่อออกจากมิวเซียมสยาม เรานั่งเรือด่วนเจ้าพระยาต่อมาลงที่ ท่าราชวงศ์ เดินออกไปยังถนนเยาวราชประมาณ 600 เมตร แวะทานไอศกรีมดับร้อนที่ร้าน JING JING Ice-cream Bar and Cafe ร้านไอศกรีมที่มีบรรยากาศเหมือนในหนังของหว่องกาไวที่เหล่าคาเฟ่ฮอปปิ้งพลาดไม่ได้

หลังออกจากร้านไอศกรีมเราเดินไปยังจุดมุ่งหมายหลักของเราซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงแรมแกรนด์ไชน่า  ตึกเก่าทรงชิโน-โปรตุกีสซึ่งเคยเป็นธนาคารกรุงไทยสาขาเยาวราชมาก่อน ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็น ‘หอศิลป์กรุงไทย’ หอศิลป์ที่รวบรวมผลงานศิลปะที่ชนะการประกวด ‘กรุงไทยสานศิลปะวัฒนธรรม’ และผลงานศิลปะที่สะสมไว้กว่า 170 ชิ้น

ถ่ายรูปก้อนเมฆ มองวิวถนนเยาวราชบนชั้นดาดฟ้าเสร็จเรายังเหลือเวลาไปช้อปปิ้ง จากหอศิลป์นี้เดินไปไม่ถึง 3 นาที ก็เป็นตลาดสำเพ็งเราแวะซื้อของกระจุกกระจิกติดไม้ติดมือกลับบ้าน ใครเป็นสายคราฟต์หน่อยก็อาจจะวางแผนโฉบไปพาหุรัดซื้อผ้าลายสวยมาเป็นพรอพถ่ายรูป หรือซื้ออุปกรณ์ทำกระเป๋าผ้าแสนชิค เดินได้เพลิน ๆ เผื่อปิ๊งไอเดียใหม่กลับบ้านก็นับว่าการเที่ยวครั้งนี้เป็นการออกมาหาอินสไปร์ที่คุ้มค่าทีเดียว

หอศิลป์กรุงไทยเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. ส่วนวันเสาร์ 10.00 น. – 17.00 น. ปิดทุกวันอาทิตย์และวันหยุดธนาคาร ใครวางแผนมากินตลาดกลางคืนที่เยาวราชช่วงกลางวันถ้าไม่รู้จะไปไหนลองมาใช้เวลาที่นี่ดู

 

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก 

ขยับออกจากเขตกรุงเก่ากันเสียหน่อย จะโบกตุ๊ก ๆ จากหอศิลป์กรุงไทย หรือขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าโอเรียนเต็ลแบบเราก็ได้ แล้วเดินไปทางถนนเจริญกรุง เลี้ยวเข้าบ้านไม้สวยบนถนนเจริญกรุง 43 ที่ตั้งของ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ บ้านที่จำลองวิถีชีวิตของชาวบางกอกหรือชาวกรุงเทพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเครื่องเรือนไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ของคนที่มีฐานะปานกลางในสมัยนั้นไว้ได้อย่างสมบูรณ์

อีกทางเลือกคือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าสี่พระยาแวะกิน Feng Zhu เกี๊ยวซ่าหน้าเปิด ร้านสไตล์จีนข้างห้างฯ River City Bangkok เดินถ่ายรูปในซอยกัปตันบุช บ้านเลขที่ 1 และ Warehouse 30 ก่อนจะเดินข้ามถนนไปยังซอยเจริญกรุง 43 เพื่อไปยังพิพิธภัณฑ์ก็ได้

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก คือ พิพิธภัณฑ์ที่เปลี่ยนจากบ้านที่อยู่อาศัยจริงจนถึงบั้นปลายชีวิตของอาจารย์วราพร สุรวดี ซึ่งบ้านหลังนี้ได้รับมรดกจากผู้เป็นแม่ นางสอาง (ตันบุณเต็ก) เป็นความตั้งใจเพื่อให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสบรรยากาศเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

ก้าวเข้าอาคารหลังแรกเป็นบ้านที่อาจารย์เคยอาศัย ออกแบบตามอย่างฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้าน เครื่องเรือน หรือของใช้ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก เราเดินมาถึงห้องรับแขกของบ้านสะดุดตาเข้ากับเปียโนหลังเก่า พบว่ามีอายุตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวแป้นกดทำมาจากงาช้าง  ข้างกันกับเปียโนหลังงามมีเครื่องแก้วเจียรไน เช่น แก้วไวน์ แก้วมาตินี่ สวยงามเล่นกับแสงของไฟ

เราเดินสำรวจบ้านเข้ามาลึกเรื่อย ๆ สิ่งที่ดูแปลกตาเห็นจะเป็นโถส้วมเมื่อสมัยยังไม่มีน้ำประปาใช้ เพราะภายใต้ฝาชักโครกนั้นมีกระโถนรองไว้ พิพิธภัณฑ์บอกเราว่ามีไว้สำหรับรองรับและสะดวกในการนำไปทิ้งนอกบ้าน เราก็ได้แต่คิดว่าการเข้าห้องน้ำในสมัยก่อนนี่เป็นเรื่องลำบากจริงๆ นะ

ลงจากบ้านแรกมาที่บ้านหลังที่สอง เป็นหลังที่ยกคลีนิกของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน จากซอยงามดูพลีมาไว้ในขนาดย่อส่วนลงมาหน่อย บรรยากาศภายในนั้นขอบอกเลยว่าไม่ผิดแผกไปจากของเดิมมากนัก ทางพิพิธภัณฑ์จัดวางไว้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิตในสมัยนั้น ในพิพิธภัณฑ์นี้ยังเหลือบ้านอีก 2 หลัง แต่เราขออุบเอาไว้ให้ตามไปลองเที่ยวกันเองดีกว่า

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เปิดทำการทุกวันพุธ-อาทิตย์ หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 10.00-16.00 น. ความตั้งใจของอาจารย์คือเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับใครที่พกบัตร Thailand Museum Pass จะได้รับสติกเกอร์ของพิพิธภัณฑ์มาเป็นที่ระลึกด้วย

 

พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ 

ย้ายจากเรือด่วนเจ้าพระยามาลงเรือด่วนคลองแสนแสบกันบ้าง พิพิธภัณฑ์ต่อมาที่เราอยากชวนมาคือ ‘พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ’ อยู่ตรงข้ามกับท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แค่นั่งเรือด่วนคลองแสนแสบมาจนสุดสายก็ถึงแล้ว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใกล้ท่าเรือมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะแค่เราเดินออกจากท่าเราก็จะเห็นอาคารทรงยุโรปตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน พร้อมให้เราเข้าไปย้อนอดีตเมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 แล้ว

เมื่อสิ่งของทุกชิ้นมักมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ อาจมีคุณค่ากับจิตใจ อาจเป็นชิ้นส่วนของความทรงจำ อาจเป็นสิ่งที่จารึกประวัติศาสตร์บทเก่า สิ่งเหล่านี้เองทำให้ของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นมีคุณค่ามากนัก เหมือนกับจุดเริ่มต้นของ ‘พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ’ พิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ ที่พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานเครื่องราชภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจัดแสดง

เราเริ่มกันที่ชั้นแรกเป็นส่วนพระราชประวัติและภายในตู้กระจกมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ เราได้เห็นชุดของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่เป็นชุดอย่างสตรีชาวยุโรป มีกระเป๋าใบสวยที่ชื่อว่า ‘กระเป๋าเสื่อสมเด็จ’ ที่เป็นอีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมอาชีพให้กับคนเมืองจันฯ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเสื่อจันทรบูรด้วย

ขึ้นมาที่ชั้น 2 เราเดินชมภาพหายากซึ่งบอกถึงพระราชประวัติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เช่น ภาพตอนทรงผนวช ทรงอภิเษกสมรส นอกจากนั้นยังมีห้องที่จำลองบรรยากาศโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อครั้งที่ยังคราคร่ำไปด้วยผู้คนและฉายหนังฝรั่งระดับฮอลลีวู้ด ถึงแม้ว่าปัจจุบันตัวอาคารศาลาเฉลิมกรุงจะยังอยู่คงความขลังแต่ภาพบรรยากาศเก่าๆ ทั้งผู้คนและแสงไฟนั้นสามารถหาชมได้จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แนะนำว่าให้เผื่อเวลามา เพราะจะมีภาพยนตร์ฉายวันละ 2 รอบ เวลา 10.30 และ 14.30 น. เท่านั้น มีทั้งภาพยนตร์หายากและภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่น่าสนใจมากทีเดียว

บนถนนหลานหลวงยังเป็นที่ซ่อนตัวของคาเฟ่และร้านรวงที่อยู่ท่ามกลางตึกเก่า เราแวะเข้าไปที่ร้าน Alex&Beth ร้านที่ไม่ได้มีดีแค่กาแฟแต่ยังเสิร์ฟของหวานทั้ง เค้ก พาย และทาร์ตด้วยนะ

พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ เปิดทำการทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์ สามารถเข้าชมได้ฟรี หรือใครจะชมจากทางบ้านที่นี่มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงให้ได้เดินเข้าในสมัยรัชกาล 7 ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตกันด้วย ที่เว็บ http://www.kingprajadhipokmuseum.com

หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พิพิธภัณฑ์สุดท้าย สำหรับใครที่ยังไม่เต็มอิ่มกับหน้าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งได้ย้อนรอยไป หรือมีเวลาเหลือ อยากชวนเดินข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปชม ‘หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ เพราะสามารถไปจากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศได้เหมือนกัน

เราเดินเข้ามาในอาคารซึ่งเคยเป็นที่ทำการของธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า ที่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ ไม่แปลกเลยที่สถานที่แห่งนี้จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับสถานที่สำคัญหลายแห่งบนถนนราชดำเนินกลางถนนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์เส้นนี้

เนื่องจากหอศิลป์แห่งนี้จัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปีตอนที่เรามาเที่ยวกับตอนที่ทุกคนมาอาจไม่เหมือนกัน เราเดินดูงานศิลปะกว่าร้อยชิ้นตั้งแต่ชั้น 1 ไปจนถึงชั้น 4 ซึ่งถูกจัดวางไว้หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นงาน ประติมากรรม สีน้ำ สีฝุ่น ไปจนถึงสื่อผสม โดยหอศิลป์แห่งนี้เน้นสนับสนุนศิลปินไทยรุ่นใหม่ไปจนถึงศิลปินระดับตำนานหลากหลายท่าน เราจึงเห็นได้ถึงความหลากหลายทางศิลปะเอามากๆ และบนชั้น 5 ยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะกับคนที่สนใจอีกด้วย

นอกจากเที่ยวหอศิลป์แล้วเรายังโบกรถไปตลาดเก่าอย่างตลาดนางเลิ้งที่ยังคงความเป็นตลาด 100 ปีเอาไว้ มีทั้งของกินและร้านรวงที่ให้กลิ่นอายของยุคเก่าก่อน ห้ามพลาดที่จะชิมร้านดังของที่นี่อย่างไส้กรอกปลาแนมหรือถ้าพูดถึงก๋วยเตี๋ยวเป็ดก็ต้องร้าน ส.รุ่งโรจน์ในตำนานนี่แหละ เด็ด!

หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น. ปิดทุกวันพุธ ค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 50 บาท

เราไปลงเรือย้อนรอยประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์กันมา 5 พิพิธภัณฑ์ มีแวะเที่ยวระหว่างทางกันบ้าง ถึงอย่างงั้นก็ยังมีอีกหลายที่ที่รอให้เราไปเที่ยวสนุก ๆ แบบไม่หยุดเรียนรู้อยู่อีก แต่จะเป็นที่ไหนติดตามในโพสต์ต่อไป ที่สำคัญอย่าลืมมีบัตร Thailand Museum Pass เป็นของตัวเองจะได้เข้าชมฟรีๆ แล้วไปเที่ยวกับเรานะ 🙂

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *