web analytics

ติดต่อเรา

พันธมิตรศูนย์ FREC ร่วมส่งมอบความช่วยเหลือสู้ภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มองค์กรพันธมิตรของ ‘ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม’ หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างมีเอกลักษณ์ตามพันธกิจของแต่ละองค์กร ได้ร่วมมือร่วมใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในปัจจุบันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้สอดรับกับความต้องการของชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ และกลุ่มองค์กรพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดทำ ‘ชุดส่งมอบความห่วงใย’ (care package) เพื่อส่งมอบให้แก่ชุมชนให้ได้สัปดาห์ละ 1,000 ชุด โดยในชุดส่งมอบความห่วงใยประกอบด้วย ข้าวสาร ปลากระป๋อง นมถั่วเหลือง และผลไม้ เพื่อให้ประกอบอาหารได้ถึง 30 มื้อ นอกจากนี้ ในชุดยังมี สบู่ เจลทำความสะอาดมือ และหน้ากากอนามัย มอบให้ด้วย โดยกลุ่มองค์กรพันธมิตรศูนย์ FREC กรุงเทพฯ คาดว่าจะสามารถส่งมอบชุดส่งมอบความห่วงใยได้รวม 13,000 ชุด ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้ถึง 400,000 มื้อ สำหรับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“พวกเราได้ร่วมกันตั้งคำถามขึ้นมากมายว่า เราจะให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง คนที่เราควรเร่งช่วยเหลือคือใคร เราจะเข้าถึงพวกเขาได้อย่างไร เราควรจะมอบสิ่งของประเภทไหน และ เราจะรวบรวมสิ่งของมาได้อย่างไร” มร. สก็อตต์ ชาง ผู้อำนวยการ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ กล่าว

Na Café ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร Bangkok 1899 คือหนึ่งในหน่วยงานเพื่อนบ้านของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือเยาวชนผู้ลี้ภัยที่เดือดร้อนให้มีงานทำ เป็นองค์กรที่ริเริ่มโครงการช่วยเหลือสู้ภัยโควิด โดยมีพันธมิตรศูนย์ FREC กรุงเทพฯ อีก 2 ราย คือ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ เอสโอเอส และ ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง USL หรือ Urban Studies Lab เข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือในโครงการ เพื่อกำหนดปริมาณสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งระดมความช่วยเหลือในการบริจาคสิ่งของ

ภายในเวลาไม่นาน ได้มีผู้สนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ บุคคลทั่วไป ร้านค้า และผู้มีชื่อเสียง ร่วมสนับสนุนสิ่งของบริจาคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาร ปลากระป๋อง เจลทำความสะอาดมือ และหน้ากากอนามัย ให้กับโครงการนี้

“ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ เอสโอเอส เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกับอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต มากกว่าสองตันต่อวัน โดยมีหลักปฎิบัติในการจัดการอาหารให้มีความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งมอบไปยังศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง บ้านเด็กกำพร้าและสตรี ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบให้โรงแรมและร้านอาหารต้องปิดให้บริการ มูลนิธิฯ จึงได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการจัดการอาหารขององค์กร รวบรวมทั้งอาหารส่วนเกินและอาหารที่มีผู้บริจาคนำมาร่วมกับโครงการ โดยได้จัดทำโซนอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และใช้รถของเรานำของที่ได้รับบริจาคมาจัดทำเป็น ‘ชุดส่งมอบความห่วงใย’ นำไปมอบให้กับชุมชน” นางสาวธนาภรณ์ อ้อยอิสรากุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิเอสโอเอส กล่าว

ปัจจุบันพื้นที่ของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ทั้งห้องประชุม สำนักงาน ห้องเรียน และครัวส่วนกลาง ได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นสถานที่จัดเก็บสิ่งของที่ได้รับบริจาคซึ่งส่วนใหญ่ ได้มาจากการทำงานร่วมกันของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ และมูลนิธิสติ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการรวบรวมความช่วยเหลือจากเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ มาสนับสนุนโครงการนี้

นายเสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ และเจ้าของร้านอาหาร Na Café กล่าวว่า “เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ บุคคลและหน่วยงานที่มีน้ำใจจากที่ต่าง ๆ ได้บริจาคสิ่งของ อาหาร และทีมงานเองได้สร้างระบบบริจาคในวิธีที่ปลอดภัยที่สุดให้กับชุมชนที่รับผลกระทบสูงสุด เรามีเป้าหมายร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการฟื้นฟูสุขภาพจิต การฝึกอาชีพ การอบรมผู้ประกอบการ รวมไปถึงการลงทุนธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน”

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง หรือ USL กลุ่มนักวิชาการและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มารวมตัวกัน เพื่อออกแบบจัดทำสถานที่สาธรณะที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน ได้ปรับเปลี่ยนการทำงาน มาช่วยหาแนวทางในการเข้าถึงกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้ ‘ชุดส่งมอบความห่วงใย’ มากที่สุด ด้วยการทำงานระยะไกลจากทางบ้าน โดยการนำข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรไทยมาผนวกเข้ากับแผนที่ 50 เขต ในกรุงเทพฯแบบละเอียด เพื่อระบุหาพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือสูงสุด

“แนวคิดที่สำคัญในการที่เราจะส่งต่อความช่วยเหลือ คือ การนำข้อมูลที่มีมาช่วยประกอบการตัดสินใจและวางแผนความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพที่สุด เราหาพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ด้วยการทำแผนที่ระดับความเปราะบางของชุมชนโดยใช้ข้อมูล 7 ตัว อาทิ จำนวนครัวเรือนรายได้ต่ำ ความหนาแน่นของประชากรสูงอายุ จำนวนชุมชนแออัด และค่าสัมประสิทธิความไม่เท่าเทียม มาวิเคราะห์ เราตั้งใจที่จะลงไปทำงานใน 13 พื้นที่ เพื่อจะช่วยเหลือให้ได้ 15,000 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็น 17% ของครัวเรือนเปราะบางที่เรามีข้อมูล นอกจากนี้ เรายังได้รับความช่วยเหลือจาก ศูนย์บริการสาธารณสุขและเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ที่ทำงานกับชุมชนอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีระบบการแจกจ่ายชุดส่งมอบความห่วงใยได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเรายังต้องเก็บข้อมูล Live data เพื่อนำมาวางแผนการช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป” ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ ผู้ก่อตั้ง USL กล่าว

อาสาสมัครจากหน่วยงานสาธารณสุขได้ใช้ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เป็นฐานปฎิบัติงานด้านการอบรมมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้เช่นกัน ด้วยการช่วยระบุกลุ่มคนและครอบครัวที่จำเป็นต้องใช้ ชุดส่งมอบความห่วงใย เนื่องจากกลุ่มอาสาสมัครมีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงวัยในชุมชนมายาวนาน แพทย์และพยาบาลอาสาสมัครที่ ยังได้ช่วยตรวจสอบพื้นที่ทำงานโซนอาหารสะอาดถูกหลักอนามัยในการจัดทำ ‘ชุดส่งมอบความห่วงใย’ ด้วย

พันธมิตรรายอื่น ๆ ของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ก็ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานมาช่วยรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

Precious Plastic หน่วยงานที่ทำงานด้านการรีไซเคิลพลาสติก ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างการรับรู้กับประชาชน มาแยกแยะข้อมูลที่เป็นความจริงและข้อมูลที่ไม่จริง เพื่อให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับโควิด-19 โดยได้จัดพิมพ์ใบปลิวที่เรียกว่า “Myth Busters” ซึ่งเป็นข้อมูลเรื่องจริง-เรื่องเท็จ ใส่ไปใน ‘ชุดส่งมอบความห่วงใย’ นี้ด้วย

Bangkok 1899 หน่วยงานเพื่อนบ้านของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่ชื่นชอบกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ถึงแม้ในช่วงนี้กิจกรรมต่างๆ ต้องยกเลิกไป แต่ Bangkok 1899 ได้ปรับเปลี่ยนสถานที่ให้เป็นจุดส่งมอบสิ่งของบริจาค เนื่องจาก Bangkok 1899 มีทางเข้าอยู่ติดถนน ผู้บริจาคจึงสามารถวนรถเพื่อนำของบริจาคมาส่งมอบ หรือ Drop Off ได้โดยไม่ต้องเข้ามาด้านในอาคาร 

FabLab Bangkok กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ให้ความรู้ด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Arts and Mathematics) แก่นักเรียน ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาตร์ หลังเวลาเรียน ได้เปิดจัดการแข่งขันผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรียกว่า แฮกกาธอน เพื่อคิดค้นอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อพัฒนาเป็นเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากป้องกันใบหน้า (Face shield) หน้ากากอนามัย และ อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ

ในส่วนของกลุ่มองค์กรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ Nature Inc. อยู่ระหว่างการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงเวิร์คช้อปต่าง ๆ ขององค์กรได้อย่างปลอดภัยจากที่บ้าน

“เรามีความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่ตระหนักถึงความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ฟอร์ดขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ส่งมอบน้ำใจและนำความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรมารวมพลังให้เราสามารถส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ชุมชน ได้ในเวลาอันรวดเร็ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่เราก็พยายามทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้ให้หรือผู้รับ” มร. ชาง กล่าวเสริม

ผู้สนใจร่วมบริจาคสามารถดูข้อมูลเพื่อเติมของโครงการ ได้ที่เว็บไซต์ www.globalgiving.org/ford-covid-response

ฟอร์ด มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมไทย ในปีที่ผ่านมา กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ฟอร์ด ฟันด์) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 53 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ณ ชุมชนนางเลิ้งอันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยถือเป็นพันธกิจระยะยาวของฟอร์ด เพื่อพัฒนากิจกรรมที่สร้างสรรค์และส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ชุมชน เช่นเดียวกับศูนย์ FREC ทั่วโลก

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *