บลจ.พรินซิเพิล ประเมินภาพรัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาและการเพิ่มความเข้มงวดควบคุมโรค มาตราการการเงิน-การคลังจะช่วยลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจาก COVID–19 ชี้หุ้นไทยในปัจจุบันราคาถูกเมื่อเทียบกับในอดีต พร้อมเปิดตัวกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 3 กอง ‘พรินซิเพิล เซ็ท 50 อินเด็กซ์เพื่อการออม’ (PRINCIPAL SET50SSF) ทั้งชนิดเพื่อการออมและเพื่อการออมพิเศษ ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ใน SET 50 เสนอขายครั้งแรก 1-10 เมษายนนี้ กองทุน ‘พรินซิเพิล ไทย ไดนามิก อินคัม อิควิตี้’ (PRINCIPAL TDIF-SSF) ชนิดเพื่อการออม เน้นลงทุนหุ้นปันผลดี และกองทุน ‘พรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซ์ อินคัม’ (PRINCIPAL i&PROPEN-SSF) ชนิดเพื่อการออม เน้นลงทุนสินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่จะไม่ถึงขั้นเลวร้าย เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคการส่งออกที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักประมาณ 77% ของ GDP ปี 2562 ขณะที่รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การปิดศูนย์การค้า ตลาดนัด สถานบันเทิง ชั่วคราว, การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและอาจถูกเลิกจ้างงาน เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบผ่านสถาบันการเงิน, การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า, การพักและขยายระยะเวลาชำระหนี้สถานบันการเงิน, ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมชั่วคราวทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง, ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มแก่ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
ทั้งนี้ ราคาหุ้นไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีตหรือเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ โดยค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอยู่ที่ 11.3 เท่า และหากพิจารณาจากสถิติผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย 1 ปีหลังจากเกิดโรคระบาด เช่น SARS, MERS, Ebola เป็นต้น พบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นไทย 1 ปีหลังจากเกิดโรคระบาดปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% (ที่มา: Blomberg, Principal Asset Management, 19 Mar 2020)
นายจุมพล กล่าวต่อว่า บลจ.พรินซิเพิล ต้องการเป็นส่วนหนึ่งร่วมส่งเสริมประชาชนออมเงินในระยะยาวเพิ่มขึ้น ผ่านกองทุนรวมเพื่อการออมหรือ Super Savings Fund (SSF) เพื่อรับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านการซื้อหน่วยลงทุน
กองทุน SSF ดังกล่าวมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.กองทุนเพื่อการออมพิเศษหรือ Super Savings Fund Extra Class (SSFX) ระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุน 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน) สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 โดยมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (ไม่รวมกับวงเงินซื้อหน่วยลงทุนกองทุน SSF แบบปกติ) และสามารถสลับกองทุนได้เฉพาะกองทุน SSF พิเศษ หรือกองทุน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับกองทุนต้นทาง และ/หรือเป็นไปตามมติครม.เท่านั้น
2. กองทุนเพื่อการออมหรือ Super Savings Fund Class (SSF) มีระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุน 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยจะซื้อหน่วยลงทุน SSF กองใดก็ได้ในปี 2563-2567 ทั้งนี้ กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีภาษี และในระยะเวลา 10 ปีที่ถือครองหน่วยลงทุนสามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุน SSF กองอื่นได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้เปิดตัวกองทุนรวมเพื่อการออม (SFF) 3 กอง ได้แก่ 1. กองทุนเปิดพรินซิเพิล เซ็ท 50 อินเด็กซ์เพื่อการออม หรือ Principal SET50 Index Super Savings Fund (PRINCIPAL SET50SSF) โดยมีนโยบายลงทุนแบบ Passive Management บนดัชนีอ้างอิง SET 50 ในลักษณะ Fully replicate เป้าหมายเพื่อทำผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงไปตลอด กองทุนนี้จะมีให้เลือก 2 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดเพื่อการออมพิเศษ Super Savings Fund Extra Class (PRINCIPAL SET50SSF-SSFX) และชนิดเพื่อการออม (PRINCIPAL SET50SSF-SSF) เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 1-10 เมษายน 2563
2. กองทุนเปิดพรินซิเพิล ไทย ไดนามิก อินคัม อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออม หรือ Principal Thai Dynamic Income Equity Fund SSF (PRINCIPAL TDIF-SSF) มีนโยบายลงทุนตามคอนเซปต์ Smart Dividend เลือกหุ้นที่จ่ายปันผลระดับที่เหมาะสม และบริหารเงินทุนแบบ Total Return เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่Defensive เพื่อลดผลกระทบด้านความผันผวนของตลาดหุ้น โดยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกหุ้นที่ลงทุน อาทิ เป็นบริษัทที่มีการกำกับดูแลที่ดีและได้รับ CG Score 3 ดาวขึ้นไป มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงกว่าตลาด มีกระแสเงินสดที่ดี ฯลฯ เพื่อคัดเลือกหุ้น 25-30 หลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน กองทุนนี้เป็นการเปิดเสนอขายชนิดเพื่อการออม (Class SSF) เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
และ 3. กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์เฟล็กซ์ อินคัม ชนิดเพื่อการออม หรือ Principal Enhanced Property and Infrastructure Flex Income Fund SSF (PRINCIPAL iPROPEN-SSF) จุดเด่นของกองทุนฯ คือเน้นลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในอสังหาริมทรัพย์คุณภาพดีที่มีรายได้ค่าเช่ามั่นคงและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก เพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอและโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำถือเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์กลุ่มนี้ กองทุนนี้เป็นการเปิดเสนอขายชนิดเพื่อการออม (Class SSF) เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.พรินซิเพิล กล่าวอีกว่า การลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF นับเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนเพื่อการออมระยะยาวและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุนไทยตามนโยบายของภาครัฐ
ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ ตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด โทร. 02 686 9595 หรือ www.principal.th
Comments
comments