“สยาม ไวเนอรี่” สานต่อความสำเร็จ “โครงการติดตั้งโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์”
กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ตอกย้ำความสำเร็จ “โครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า” นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หลังติดตั้งในป่าธรรมชาติหลายพื้นที่ มีนกเงือกเข้าทำรังต่อเนื่อง พร้อมสานต่อเจตนารมณ์รักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลแก่ผืนป่าทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ได้ร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างถังไวน์เก่าที่ไม่ใช้แล้วนำมาดัดแปลงปรับเปลี่ยนเป็นโพรงรังเทียมของนกเงือก ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ก่อเกิดเป็นความสำเร็จในการเพิ่มโอกาศในการขยายพันธุ์ทดแทนโพรงจากป่าธรรมชาติซึ่งต้องเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันนับว่าหาได้ยากจากป่าธรรมชาติ จากการขาดโพรงในการขยายพันธุ์จึงเป็นหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้นกเงือกลดจำนวนจนอยู่ในเกณฑ์ที่จะสูญพันธุ์ ที่รองลงมาจากการล่าของมนุษย์
ทั้งนี้ความสำเร็จของโครงการนับเป็นครั้งแรกของโลกที่นำถังไวน์เก่าซึ่งเป็นของใช้แล้วในภาคอุตสาหกรรมมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อนกเงือกและติดตั้งในป่าธรรมชาติ ถือเป็นนวัตกรรมแห่งการอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์แก่ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยในปีที่ผ่านมาโครงการได้ทำการติดตั้งโพรงรังเทียมในหลายพื้นที่ อาทิ ในป่าบริเวณไร่องุ่นมอนซูน แวลลีย์ ของบริษัท สยาม ไวเนอรี่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา–บาลา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา อ.แว้ง
จ.นราธิวาส, สวนป่าพระนามาภิไธย ภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ตชด.ที่ 445 จ.ยะลา) ในอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา, อุทยานแห่งชาติบูโด–สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส, โครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
จากผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศ เพราะข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกระบุว่า นกเงือกคือนกปลูกป่าตัวจริง จากการกินผลไม้ป่าเป็นอาหารหลักมากกว่า 100 ชนิด และแต่ละตัวจะกินผลไม้มากถึง 100 เมล็ดต่อวัน การกินแล้วคายเมล็ดทิ้งในป่าของนกเงือกจึงเป็นการปลูกป่าโดยธรรมชาติ แม้เมล็ดพันธุ์ที่คายออกมาจะมีโอกาสงอกเป็นกล้าไม้และเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้เพียงร้อยละ 5 แต่ด้วยปริมาณการกินและคายที่มากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งพฤติกรรมการบินในระยะทางที่ไกลของนกเงือกยังทำให้มีโอกาสในการนำพาเมล็ดพันธุ์ต้นไม้จากผืนป่าหนึ่งไปกระจายพันธุ์ยังถิ่นอื่นด้วย ฉะนั้นการคงอยู่และเพิ่มขึ้นของจำนวนนกเงือกจึงนับว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี