ลอรีอัล ไตรมาส 3 เติบโต +7.8% เอเชียแปซิฟิกนำยอด
ลอรีอัล ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในไตรมาส 3 ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 7.8% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ และยังคงเติบโตมากกว่าตลาด โดยสามารถรักษาอัตราการเติบโตในระดับสูงนี้ได้แม้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะมีภาวะผันผวน
ทุกแผนกมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงและผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคมีผลประกอบการต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยสามารถเติบโตอย่างมากในเอเชีย แต่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากในสหรัฐตามที่เคยได้ประกาศไป ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกยังคงการเติบโตที่สูงมากที่สุด โดยเฉพาะในจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ยุโรปตะวันออกมีการขยายตัวเร็วขึ้น และยุโรปตะวันตกสามารถปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ผลักดันการเติบโตของลอรีอัล กรุ๊ป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์ อี-คอมเมิร์ซ และช่องทางค้าปลีกท่องเที่ยว โดยช่องทางอี-คอมเมิร์ซ มีอัตราการเติบโตถึง 47.5% ซึ่งคิดเป็น 13.5% ของยอดขายรวม ส่วนช่องทางค้าปลีกท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20.8%
ยอดขายรวม 9 เดือนแรกปี 2562 เติบโต +7.5%
ยอดขายแบ่งตามแผนกและภูมิภาค (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562)
- แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ เติบโต + 3.0% (Professional Products Division)
เติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นจากผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องในสหรัฐและเอเชียแปซิฟิก จากการคงส่วนแบ่งการตลาด ในยุโรปตะวันออกก็ยังคงมีการเติบโต แต่ในละตินอเมริกาและยุโรปตะวันตกยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาในบางประเทศ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมยังคงเป็นสินค้าอันดับหนึ่งที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น โดยแบรนด์เคเรสตาสมียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกตลาด
- แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค เติบโต +3.0% (Consumer Products Division)
แบรนด์ลอรีอัลปารีส สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการ์นิเย่ก็ทำผลงานได้ดี ผลิตภัณฑ์สกินแคร์เติบโตเร็วขึ้นในทุกภูมิภาค จากความสำเร็จของนวัตกรรมใหม่ทั้ง Revitalift Filler แอมพูล และเซรั่มที่มีส่วนผสมของไฮยาลูรอนิค แอซิดจาก ลอรีอัลปารีส ความนิยมในการใช้ทิชชู่มาสก์ทั่วโลก ตลอดจนความสำเร็จของ การ์นิเย่เมน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ Rouge Signature โดย ลอรีอัลปารีส และ Superstay Matte Ink โดยเมย์เบลลีน นิวยอร์ก
แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรป และเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย โดยเฉพาะในจีน อินเดีย เกาหลี และอินโดนีเซีย จากความสำเร็จของแบรนด์ 3CE แต่ก็ยังถูกฉุดรั้งจากตลาดเมคอัพของสหรัฐที่ยังคงชะลอตัว
- ผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง เติบโต +13.4% (L’ORÉAL LUXE)
แบรนด์กลุ่มท็อปโฟร์ในแผนกยังรักษาจังหวะการเติบโตที่แข็งแกร่งไว้ได้ ซึ่งสกินแคร์ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Génifique ของลังโคม และ Calendula Serum-Infused Water Cream ของคีลส์ สำหรับในกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมนั้น จุดเด่นอยู่ที่น้ำหอมสำหรับผู้หญิง 2 แบรนด์ คือ Idôle ของลังโคม และ Libre ของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์
การเติบโตของแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงนั้นขับเคลื่อนโดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและช่องทางค้าปลีกท่องเที่ยว ผลประกอบการที่ดีมากในยุโรปและละตินอเมริกาน่าจับตา และตลาดในอเมริกาเหนือยังคงไม่ค่อยดี ขณะเดียวกัน แผนกนี้ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่องทางอี-คอมเมิร์ซ
- ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เติบโต +13.8% (ACTIVE COSMETICS Division)
ยอดขายในทุกโซนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และโดดเด่นในตลาดกลุ่มเดอร์โม ซึ่งยังคงคึกคักอย่างมาก โดยแบรนด์ลาโรช-โพเชย์มีการเติบโตในอัตราเลขสองหลัก และยังคงเติบโตเร็วขึ้นอย่างมากในทุกทวีป ซึ่งเป็นผลจากผลิตภัณฑ์ Anthélios Effaclar และ HyaluB5 แบรนด์เซราวีคงการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยยอดขายขยายตัวขึ้นอย่างมากในทุกโซนรวมทั้งสหรัฐ สำหรับวิชี่ Liftactiv และ Minéral 89 เป็นผลิตภัณฑ์ดาวเด่นที่การคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา
สรุปยอดขายตามภูมิภาค
โซนยุโรปตะวันตก ยอดขายเพิ่มขึ้น 1.7%
โซนอเมริกาเหนือ ยอดขายลดลง 0.4% เนื่องจากสภาวะตลาดที่ย่ำแย่
โซนตลาดใหม่
- เอเชียแปซิฟิกเติบโต 23.7% โดยจีน ตลอดจนอินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซียยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง และทุกแผนกมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลัก
- ละตินอเมริกา เติบโต 4% โดยเม็กซิโก และชิลี มียอดขายที่เติบโตสูง แต่บราซิลและอาร์เจนตินายังคงเผชิญปัญหา
- ยุโรปตะวันออก เติบโต 2% จากการเติบโตในรัสเซีย ตุรกี และประเทศในยุโรปกลาง (ยูเครน, โรมาเนีย และสาธารณรัฐเช็ก)
- แอฟริกาและ ตะวันออกลางยอดขายลดลง 0% โดยยอดขายในอียิปต์ โมรอกโก ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบียโตขึ้น แต่ตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงย่ำแย่