15 ปี ความร่วมมือ ปตท.- โตโยต้า เดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาด
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) นายยูคิโอะ โยชิดะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน ปตท. และกลุ่มบริษัท โตโยต้า ประกอบด้วย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ร่วมเฉลิมฉลองในงาน “PTT-Toyota 15th Anniversary of Collaborative Research – Moving towards clean energy for Thailand’s Sustainability” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี แห่งความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงในยานยนต์ ระหว่าง สถาบันนวัตกรรม ปตท. และกลุ่มบริษัท โตโยต้า โดยทั้ง 2 พันธมิตรได้มีความร่วมมือกันอย่างยาวนานในการร่วม ค้นคว้า-วิจัยและพัฒนา เชื้อเพลิงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนร่วมสนับสนุนผลักดันนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทย
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เปิดเผยว่า สถาบันนวัตกรรม ปตท. และกลุ่มบริษัทโตโยต้า เป็นพันธมิตรกันอย่างยาวนานถึง 15 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2547 จาก “โครงการวิจัยเรื่องเมล็ดสบู่ดำ” โครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาไบโอดีเซลในประเทศไทยร่วมกัน จากนั้นทั้ง ปตท. และ โตโยต้า ต่างสานต่อพระราชปณิธาน ร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ส่งผลให้คนไทยได้มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยถือได้ว่านับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนอย่างหลากหลาย ทั้งแก๊สโซฮอล์ ที่ได้มาจากอ้อยและมันสำปะหลัง ไบโอดีเซลจากปาล์ม หรือแม้กระทั่งก๊าซธรรมชาติ (ซีเอ็นจี) จากแหล่งอ่าวไทยของเรา เป็นต้น ทั้งนี้การที่มีกลุ่มบริษัทโตโยต้าเป็นพันธมิตรทำให้เราสามารถร่วมกันทำการศึกษาผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้กับเครื่องยนต์ได้ ตัวอย่างของความสำเร็จของโครงการเช่น การศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลร้อยละ 10 จนนำมาสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาเชื้อเพลิงเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลิตผลทางเกษตรในราคาสูงขึ้นอีกด้วย สอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างสมดุล 3 หลัก คือ การพัฒนาคน (People) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Planet) และการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ (Prosperity)
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาสภาวะราคาน้ำมันจะอยู่ในภาวะที่ปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ดีประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีวัตถุดิบที่สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกได้มากมาย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ให้การสนับสนุน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโตโยต้าเองในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ของเราให้สามารถรองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่หลากหลาย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของเราอีกด้วย
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ควบคู่กับการพัฒนาสังคมไทยเป็นสำคัญ เราจึงมีความพยายามในการนำเสนอนวัตกรรมพลังงานทางเลือก ที่ทั้งประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและนโยบายของภาครัฐ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ไม่เพียงเฉพาะลูกค้าของโตโยต้า แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้รถที่พิจารณาเลือกใช้พลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ โดยภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาโครงการร่วมกับ ปตท. ในครั้งนี้ โตโยต้าได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ รถยนต์ เครื่องยนต์ ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการทดลอง ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลแห่งความร่วมมือในครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อโลกของเราต่อไป”
นายยูคิโอะ โยชิดะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นศักยภาพของประเทศด้านทรัพยากรชีวมวลซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ จึงมีพระราชดำริส่งเสริมการพัฒนาและผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานให้กับคนไทยดังนั้นเพื่อดำเนินตามรอยพระราชดำริดังกล่าว บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จึงเดินหน้าและพัฒนายานยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงในยานยนต์เราได้บรรลุความสำเร็จในโครงการสำคัญหลายโครงการ อาทิ การผลิตไบโอดีเซลจากต้นสบู่ดำ (Jatropha Biodiesel) น้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ (Bio-hydrogenated Diesel) การผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย การผลิตเอทานอลจากฟางข้าว และชานอ้อย นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ได้ร่วมพัฒนาและเกิดผลสำเร็จในเชิงพาณิชย์ อาทิ การใช้ B20 ในรถยนต์โตโยต้า ไอเอ็มวี (IMV) รถกระบะHilux, Fortuner,และ Hiace, Commuter, Majesty โดยไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และ รถยนต์ โตโยต้า รุ่น Corolla Altis NGV สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติของไทยที่มีคุณภาพที่หลากหลายได้ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แต่ยังมีส่วนช่วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ตลอดจนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย”
ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า กว่า 20 ปี ในการดำเนินงานของ สถาบันนวัตกรรม ปตท. เรามีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเชื้อเพลิงในยานยนต์ ในขณะที่กลุ่มบริษัทโตโยต้า เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยียานยนต์ ตลอดระยะเวลาแห่งความร่วมมือ 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีการนำเสนอผลการศึกษาต่อภาครัฐเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการกำหนดเป็นนโยบายพลังงานของประเทศ จาก “ไบโอดีเซล – แก๊สโซฮอล์ – ซีเอ็นจี” คือความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างกันที่เป็นรูปธรรม จนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคนี้ ในวันนี้เราพร้อมเดินหน้าผลักดันเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค “ยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจน” ต่อไป