กองทุนฮอนด้าฯ ผสานมูลนิธิอุทกพัฒน์ พัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.แพร่
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สานต่อโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ เป็นปีที่ 5 ด้วยการดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
ณ ลำห้วยแม่ปุ๊ และโรงเรียนบ้านป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยร่วมกับเครือข่ายชุมชนบ้านป่าเลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร้านผู้จำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจังหวัดแพร่ และจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้าฮอนด้า จัดกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำ ช่วยบรรเทาภัยจากน้ำหลาก น้ำแล้ง และปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคน้ำดื่มที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัยของชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นต่อไป
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า “กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย มีความพร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของฮอนด้าในการสร้างคุณค่าเพื่อเป็นองค์กรที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป สำหรับปัญหาการจัดการน้ำนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งในส่วนของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม ณ จังหวัดแพร่ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 โดยเป็นการขยายผลการดำเนินงานต่อจากลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำน่าน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่ดำเนินงานสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นต่อไป ทั้งนี้ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวมทั้ง 3 ลุ่มน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 เป็นจำนวนกว่า 52 ล้านบาท โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 71,853 ไร่ จำนวน 14,918 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 8,862,994 ลูกบาศก์เมตร ขยายผลการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำจากชุมชนแกนนำไปยังเครือข่ายที่รับประโยชน์ร่วมกัน 1,163 หมู่บ้าน
สำหรับกิจกรรมฟื้นฟูลำห้วยแม่ปุ๊และปรับปรุงระบบน้ำดื่มสะอาด (วันที่ 28 กันยายน 2562) เป็นการรวมพลังจิตอาสาของเครือข่ายชุมชนบ้านป่าเลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร้านผู้จำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจังหวัดแพร่ และจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้าฮอนด้า ประกอบด้วยการปรับปรุงฝายชะลอและกักเก็บน้ำ จำนวน 1 ฝาย การก่อสร้างคันยกระดับน้ำในลำเหมือง ปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะตลิ่งระยะทางรวม 28 เมตร การขุดสระเพาะพันธุ์ปลา การปรับปรุงโรงเรือนปลูกผักสวนครัวและพืชสมุนไพร รวมทั้งการปรับปรุงระบบกรองน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มแหล่งสำรองน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ 200 ไร่ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ใน 2 หมู่บ้าน รวม 1,015 คน (410 ครัวเรือน: หมู่ 3 บ้านป่าเลา จำนวน 263 ครัวเรือน 670 คน และหมู่ 10 บ้านป่าเลาเหนือ จำนวน 147 ครัวเรือน 345 คน) ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำดื่มบรรจุขวดให้กับชุมชนได้ถึง 720,000 บาทต่อปี
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง สำหรับในปีนี้ได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ในพื้นที่ต้นน้ำยม ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก มูลนิธิจึงมีแนวทางการพัฒนาใน 2 ด้าน คือ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้มีน้ำเติมแหล่งเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างน้ำเดิมให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนการฟื้นฟูลำน้ำสาขา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ องค์บริหารส่วนจังหวัดแพร่ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน”
สำหรับโครงการ “พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำยม” เป็นโครงการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และมีแผนต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2563 ดำเนินงานใน 3 ชุมชน ประกอบด้วย 1) ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา 2) ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และ 3) ตำบลป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเสริมระบบกรองน้ำสะอาด ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และลำห้วย ฝายชะลอความชุ่มชื้น ฟื้นระบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และแหล่งสำรองน้ำชุมชน เสริมความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร