บสย. ออก 2 มาตรการเยียวยา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
บสย. ออก 2 มาตรการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือนสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และพักชำระการผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือนสำหรับลูกหนี้ บสย.
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้ออก 2 มาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติพายุโซนร้อนโพดุล โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 32 จังหวัดจากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs บสย. จึงได้ออก 2 มาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย
- มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs ปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยเป็นลูกค้า SMEs ที่ครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งสถาบันการเงินจะเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบของลูกค้าเพื่อยืนยันเข้าร่วมมาตรการ
- มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ บสย. โดยพักชำระการผ่อนชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยเป็นลูกหนี้ของ บสย. ที่ครบกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งลูกหนี้ บสย. สามารถยื่นคำขอผ่านสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานเขตของ บสย. ทั้ง 10 แห่งเพื่อเข้าร่วมมาตรการ
ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งได้รับสินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ซึ่งฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรกได้เช่นกัน
“ขณะนี้ บสย. เร่งสำรวจความเสียหายของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า บสย. เพื่อสรุปและประเมินความเสียหายพร้อมให้ความช่วยเหลือทันที จึงได้ออก 2 มาตรการนี้ โดยเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการทันที พร้อมลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบัน บสย. มีลูกค้าในพื้นที่ 32 จังหวัดรวมกว่า 80,000 ราย คิดเป็นยอดค้ำประกันสินเชื่อกว่า 90,000 ล้านบาท บสย. ขอส่งกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้” ดร.รักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 บสย. ได้ลงพื้นที่มอบน้ำดื่มจำนวน 100 แพ็ค ให้กับผู้ประสบภัยจากพายุโพดุล ในเขต อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมสูง รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย