web analytics

ติดต่อเรา

นายกรัฐมนตรี เปิดงานสัมมนา “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities”

สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงการต่างประเทศ จัดงานประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” เพื่อเป็นเวทีสำคัญให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้แทนจากประเทศสมาชิก G20 ได้เสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการ MSMEs ในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องเผชิญกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ
นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย หรือที่เรียกว่า MSME โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเจตนารมณ์นี้สอดคล้องกับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันเพื่อให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ (Priority Economic Deliverables) โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ การเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งการพัฒนาวิสาหกิจรายย่อยได้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักภายใต้ด้านที่ 1 ซึ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจรายย่อย
สำหรับหัวข้อของการสัมมนาในวันนี้ “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือรัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยการใช้ระบบพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงตลาด การส่งเสริม MSME เป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องดำเนินการร่วมกัน และยินดีมากที่เห็นภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น โดยเอกชนทั้งรายใหญ่และ MSMEs เป็นผู้เล่นหลัก (Player) ในขณะที่รัฐทำหน้าที่สนับสนุน หรือเป็น Facilitator โดยความร่วมมือในรูปแบบนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนา MSMEs อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ ในการประชุมผู้นำ G20 ผมได้มีโอกาสไปเชิญประเทศสมาชิก G20 มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมกับประเทศอาเซียนด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน การมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาค รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาคมอาเซียนของเรามีความแน่นแฟ้น และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนที่เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดงาน “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ให้แก่ผู้ประกอบการ MSMEs ในอาเซียนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยภายในงานจะมีการเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนภายใต้ 4 หัวข้อหลักดังต่อไปนี้
1. Advancing MSMEs 4.0 with Digital Transformation แนวทางในการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ
2. Enhancing Capability for MSMEs through Public – Private Partnership ความคิดเห็นจากตัวแทนทางภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งวิธีการสนับสนุนทางด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงตลาดและการเงินให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
3. Financial Inclusion for MSMEs มุ่งเน้นไปที่การสร้างตระหนักรู้ในประเด็นปัญหา และอุปสรรคที่ผู้ประกอบการ MSMEs ต้องเผชิญในประเด็นการเข้าถึงตลาดและการเงินจากแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันทางการเงิน
4. Digitalization of Ecosystem for Financial Inclusion การเสวนาเกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับการเข้าถึงการเงินทั้งในรูปแบบดั้งเดิม ร่วมสมัย และดิจิทัล
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ สสว. ได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานของไทยที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทย โดยเป็นการดำเนินการภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (Digitalization of ASEAN Micro Enterprises)” ซึ่ง สสว. ได้ร่วมกับคณะกรรมการอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำ “แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแนะแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเน้นในเรื่องการสนับสนุนการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดย สสว. จะได้เสนอเอกสารนี้ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting: AEM) ให้การรับรองในเดือนกันยายน 2562 และเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562
ในโอกาสนี้ นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งด้วยว่าการจัดงานประชุมในครั้งนี้ สอดรับกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีต่อการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานอาเซียนที่จะขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ G20 อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสานต่อแนวคิด ASEAN Outlook on the Indo-Pacific โดยหนึ่งในประเด็นที่เสนอ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับ G20 ในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมให้แก่ชุมชนห่างไกล สตรี เยาวชน และผู้ประกอบการ start up ซึ่งในวันนี้ มีผู้แทนประเทศสมาชิก G20 มาร่วมกับพวกเราอาเซียน รวมถึงมีผู้แทนจากญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในปีนี้ มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *