web analytics

ติดต่อเรา

เบนซ์ จับมือ สวทช. สนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า โดยมอบให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. เป็นแล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต เช่น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ และห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น โดยตั้งเป้าให้เกิดการใช้งานห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยและพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานทดสอบในประเทศ เพื่อสนองนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และพัฒนาฐานการผลิตแบตเตอรี่ให้เกิดในประเทศไทยอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาลิเธียมแบตเตอรี่ เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ท้าทายที่สุด เนื่องจากสามารถเก็บกักพลังงานได้ดี น้ำหนักเบา และสามารถชาร์จซ้ำ ๆ ได้หลายครั้ง จนทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกค่าย ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน แม้กระทั่งในไทย แข่งขันกันพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดต่อการชาร์จ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่เป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนง่ายและอาจเกิดการติดไฟขึ้นได้  ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิต การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงที่ถูกต้อง หลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่ชนิดนี้และบังคับใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ขับขี่และผู้สัญจรร่วมทางให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

โดยจะต้องแสดงความปลอดภัยของแบตเตอรี่จะใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ ซึ่งการได้มาของเครื่องหมายรับรองแบตเตอรี่ มีกระบวนการต่าง ๆ ทั้งการทดสอบในห้องปฏิบัติการทดสอบ การตรวจโรงงานผลิต และสุ่มตลาดเพื่อควบคุมคุณภาพ ซึ่งนับเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการในประเทศ  เนื่องจากการส่งแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ เช่น แบตเตอรี่ของรถยนต์ออกไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการต่างประเทศ และการส่งจำหน่ายในต่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะขนส่งทางถนน ทางเรือ หรือเครื่องบิน นอกจากนี้แต่ละประเทศก็มีข้อกำหนดย่อยของตนเอง จนทำให้โรงงานแบตเตอรี่ที่จะตั้งขึ้นในประเทศไทยเกิดอุปสรรคอย่างมากและการลงทุนเครื่องมือทดสอบมีมูลค่ามหาศาล

ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สวทช. และรัฐบาลจึงเล็งเห็นพร้อมให้ความสำคัญในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อทำให้ประเทศไทย ยังคงเป็นประเทศที่พร้อมในการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ และด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ตอบสนองผลิตภัณฑ์ new-s curve และ Industry 4.0 โดย สวทช. ให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ทั้งในระดับเซลล์ โมดูล และแบตเตอรี่แพ็คและการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับแห่งอนาคต แบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย อาทิ การทดสอบประสิทธิภาพการชาร์จ-ดิสชาร์จเพื่อประมาณอายุการใช้งาน และการรับประกันอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนาน, การทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่เมื่อเกิดการจมน้ำ จากสถานการณ์น้ำท่วมถนนและการตกลงในน้ำ, การทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ เมื่อขับบนถนนทางลูกรัง ถนนดิน ซึ่งมีฝุ่นมากของประเทศไทย, การทดสอบสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบทันทีทันใด จากร้อนสู่เย็นแบบทันทีทันใด เพื่อส่งแบตเตอรี่ไปจำหน่ายต่างประเทศ, การทดสอบการทำงานของแบตเตอรี่ด้วยการจำลองสภาวะการสั่นสะเทือน การกระแทก เมื่อขับบนถนน ขรุขระ การตกหลุมบ่อบนถนน ตกไหล่ทาง กระแทกคอสะพาน ฯลฯ เป็นต้น

PTEC สวทช.ห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่เป็นแล็บทดสอบสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่แบตเตอรี่ใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังก้าวไปถึงพลังงานสำรองสำหรับบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศประหยัดค่าทดสอบ ค่าขนส่ง สามารถแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ที่ไม่เป็นไปตามที่ออกแบบ และที่สำคัญไม่ต้องเผชิญปัญหากฎหมายต่างประเทศหลายครั้ง ก่อนผลิตออกจำหน่ายเชิงปริมาณมาก

 

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 20 ปี สวทช. ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบต่าง ๆ ขึ้น และให้บริการด้านวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เช่น การทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า การตรวจวิเคราะห์และทดสอบความปลอดภัยของอาหาร การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นาโนและการทดสอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ เพื่อดำเนินการพัฒนากลไกทางธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านภาษี การอบรม การเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างการยอมรับในบัญชีจัดซื้อของภาครัฐ  และการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศทั้ง SME และ Start-up  การดำเนินงานเหล่านี้จำเป็นต้องมี ผู้รับการถ่ายทอด และปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศเพื่อการขับเคลื่อนผลักดันสู่ภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในประเทศต่อไป

มร. อันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่รูปแบบการสัญจรในอนาคต รวมถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ไม่ปล่อยไอเสียเลย เมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยียนตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ได้เริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (EQ Power) ภายใต้แบรนด์เทคโนโลยี EQ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 โดยปัจจุบันบริษัทผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรวม 6 รุ่น ทั้ง C-Class E-Class และ S-Class และนอกจากการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดแล้ว ในปีที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับธนบุรีประกอบรถยนต์ลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ซึ่งนับเป็นแห่งที่หกของโลก ยกระดับการผลิตในไทยเพื่อสนองนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค และเพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV)”

“แบตเตอรี่” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากกระบวนการผลิตที่ต้องตรงตามมาตรฐานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่งแล้ว แบตเตอรี่ยังจะต้องได้รับการทดสอบจากศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ระดับโลก ซึ่งขั้นตอนการทดสอบเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์จะมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ขับขี่

“เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนของบริษัทกับการก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ไม่ปล่อยไอเสียเลยในอนาคต ในปีนี้บริษัทจึงได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมเป็นแห่งแรกในไทย และอาเซียน โดยมอบให้ PTEC สวทช. เป็นแล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย เริ่มต้นจากการทดสอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงการจัดตั้งแล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภท BEV เพื่อรองรับการมาถึงของรถยนต์กลุ่มนี้ในอนาคต โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันในด้านการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ในประเทศไทย มีมาตรฐานเดียวกับศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ระดับโลก รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานทดสอบในประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถคนไทยจากการศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยกว่าชิ้นส่วนทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” มร. อันเดรอัส กล่าวทิ้งท้าย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *