ทีเส็บ เตรียมเปิดตัว Thai MICE Connect
ทีเส็บ เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย 4.0 ต่อเนื่อง สร้างอีมาร์เก็ตเพลสธุรกิจไมซ์ (E-MICE Marketplace) ครั้งแรกในประเทศไทย เปิดตลาดไมซ์ให้ผู้ประกอบการทุกระดับมีโอกาสเท่าเทียมกัน ผ่านโครงการนำร่อง 3 ภูมิภาค กลาง ใต้ อีสาน ในปี 2562
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ธุรกิจไมซ์เป็นเวทีหลักเชื่อมโยงหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก อุตสาหกรรมการบริการและโลจิสติกส์ทั้งระบบ ทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐมีบทบาทส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้วิสัยทัศน์การทำงานตามนโยบายรัฐบาล 3 เป้าหมายหลัก คือ การสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ไทยอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ล่าสุด ทีเส็บเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาข้อมูลไมซ์ระดับชาติ สอดคล้องกับแนวทางการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับธุรกิจไมซ์ สร้างศูนย์กลางข้อมูลไมซ์ระดับชาติที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ทั่วประเทศทำการตลาด การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ธุรกิจไมซ์ในระดับมหภาคร่วมกัน ทีเส็บจึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 10 หน่วยงานเดินหน้ายกระดับธุรกิจไมซ์ผ่านนวัตกรรมข้อมูล ริเริ่มโครงการจัดเก็บข้อมูลผู้ประกอบการ สินค้าบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ “Thai MICE Connect” หรือแพลทฟอร์มรวบรวมฐานข้อมูลสินค้าบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วประเทศที่ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน ด้วยการพัฒนาให้เป็น E-Marketplace ของธุรกิจไมซ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกของไทย
โครงการ “Thai MICE Connect” หรือโครงการจัดเก็บข้อมูลผู้ประกอบการ สินค้า บริการของอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกในปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเฟสสองในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออก
นอกจากนี้ ทีเส็บวางแผนจัดอบรมวิธีการใช้งาน Thai MICE Connect ให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ เพื่อเข้าถึงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำธุรกิจบนอีมาร์เก็ตเพลสได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน ๓ ภูมิภาค คือ ภาคกลาง จัดขึ้นที่ จ.กรุงเทพฯ,จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.กาญจนบุรี และ
จ.เพชรบุรี, ภาคใต้ จัดที่ จ.ภูเก็ต, จ.สงขลา, จ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี, จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี โดยเริ่มการอบรมระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม จนถึง 9 กันยายน 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย
โครงการ “Thai MICE Connect” มีรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะ E-MICE Marketplace ของอุตสาหกรรมไมซ์ครั้งแรกของไทย ทำการสำรวจ วิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทานไมซ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลไมซ์แห่งชาติ และประมวลผลข้อมูลด้านไมซ์สองภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เข้าถึงผู้สนใจใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูล สินค้า บริการ ผู้ขาย ผู้ผลิต ในอุตสาหกรรมไมซ์ได้ตรงตามความต้องการ สะดวกทุกที่ ทุกเวลา เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้การจัดงานไมซ์ในประเทศไทยตอบรับเทรนด์ไมซ์ดิจิตัล เพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการทำการตลาดและสามารถขยายตลาดไปยังลูกค้าในและต่างประเทศได้ครบจบในแพลทฟอร์มเดียว
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวต่อว่า โครงการ “Thai MICE Connect”จะเป็นแพลทฟอร์มนวัตกรรมใหม่สำหรับวงการไมซ์ไทยในการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้สามารถแข่งขันได้บนแพลทฟอร์มการตลาดโลกใหม่ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมเรียนรู้และพัฒนา สร้างความน่าสนใจให้กับสินค้าและบริการเพื่อพร้อมเป็นตัวเลือกในแพลทฟอร์มรูปแบบ E- MICE Marketplace ที่จะมีการติดดาวสำหรับผู้ประกอบการที่มีความถี่สูงในการอัพเดตข้อมูลสินค้าและบริการ ทั้งรูปภาพ ข้อความ โปรโมชั่น เพื่อให้สินค้าบริการเป็นที่น่าสนใจ โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในโครงการฝึกฝนพัฒนาธุรกิจ และมีระบบที่ประเมินผลได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน ทีเส็บได้พัฒนาการฝึกอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการในรูปแบบ Workshop ทั้งความรู้ด้านการจัดเก็บข้อมูล และการทำการตลาดดิจิตัล โดยผู้ร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปดำเนินการพัฒนาต่อยอดระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง”
โครงการ Thai MICE Connect: E-MICE Marketplace เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยเป็นแพลทฟอร์มสร้างโอกาสทางธุรกิจไมซ์กระจายทั่วถึงไปยังทุกภูมิภาค เชื่อมโลกการค้าระหว่างผู้ประกอบการและผู้ร่วมงานไมซ์ให้รวมกันเป็นหนึ่งได้บนรูปแบบ E- MICE Marketplace ครั้งแรกของไทย ขับเคลื่อนให้ธุรกิจไมซ์ไทยก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมไมซ์โลก โดยภายในปี 2562 นี้ตั้งเป้าหมายการสร้างฐานข้อมูลผู้ประกอบการผู้ขาย (Seller) ไว้ที่ขั้นต่ำ 10,000 รายกระจายใน ๓ ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี 2563 จะขยายไปยังอีก 2 ภูมิภาค คือ ภูมิภาค ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เพื่อให้ข้อมูลไมซ์แห่งชาติสมบูรณ์ครบทั่วประเทศ