บสย. โกอินเตอร์ ผนึก KOTEC ดึงนักลงทุนเกาหลีใต้เข้าไทย รับนโยบาย EEC
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ KOTEC บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริม แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลด้านระบบการค้ำประกันสินเชื่อระหว่างไทย-เกาหลี พร้อมหนุนนักลงทุนแดนกิมจิ เพิ่มโอกาสขยายการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย ตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังพบตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากเกาหลีใต้ ปี 2561 มีมูลค่ากว่า 54,000 ล้านบาท
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. และ KOTEC (Korea Technology Finance Corporation) ซึ่งเป็นสถาบันค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Start-up และ Innovation ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง SMEs และ Startups แห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดย นายจอง ยุนโม ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ KOTEC ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง 2 สถาบัน โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญของสถาบันค้ำประกันสินเชื่อ KOTEC และ ของ บสย.
โดยใน ปี 2557 KOTEC และ บสย. ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ระบบประเมินเทคโนโลยีของประเทศไทย (Thailand Technology Rating System-TTRS) โดยพัฒนาโมเดลการประเมินเทคโนโลยีที่เรียกว่า Thailand Technology Rating System หรือ TTRS ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการพัฒนาเครื่องมือ TTRS นี้ ก็เพื่อนำมาประเมินเทคโนโลยีของผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งผู้ผ่านการประเมินในโครงการฯ จะได้รับโอกาสรับสินเชื่อจากธนาคารและการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้ บสย. และ KOTEC ขยายความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความช่วยเหลือด้านค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ของ 2 ประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในอนาคตซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ในกรณีที่มี SMEs ลงทุนข้ามประเทศ ซึ่งจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า มีมูลค่าการลงทุนในปี 2561 จากประเทศเกาหลีมีมูลค่า สูงกว่า 54,000 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับความร่วมมือของ 2 ประเทศ
นายจอง ยุนโม ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ KOTEC กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ องค์ความรู้ การถ่ายทอดความรู้ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต อาทิ การเปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เกิดประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น และการสนับสนุนทางการเงินโดยตรงจากสถาบันการรับประกันในประเทศหากมีการเปิดตัวการให้สิทธิพิเศษร่วมกันในอนาคต