เปิดประสบการณ์ใหม่กับทริป “อดีตในปัจจุบัน อัศจรรย์แห่งตะวันออกที่เราไม่รู้จัก”
โครงการส่งเสริมการตลาดชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกโดย สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) ร่วมกับ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) จัดทริป “อดีตในปัจจุบัน อัศจรรย์แห่งตะวันออกที่เราไม่รู้จัก” ระยอง–จันทบุรี–ตราด 3 วัน 2 คืน 27-29 เมษายน 2562
ในปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) ร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ดำเนินโครงการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Go Ea(s)t & Go Green) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรากฐานความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนโดยใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ Community Based Tourism : CBT ในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Active Beach) เพื่อให้ชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
นายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการตลาดชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวว่า โดยในปีนี้ อพท. 3 มีความคาดหวังที่จะเห็นชุมชนที่มีศักยภาพในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้นำเสนออัตลักษณ์ วิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการเสนอขายกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน ผ่านกลไกเครื่องมือการส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ชุมชนซึ่งให้ความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการส่งเสริมการตลาดชุมชนของ อพท. ในปีนี้ ประกอบด้วย 8 ชุมชน ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ได้แก่ ชุมชนบ้านกระแสบน ชุมชนบ้านจำรุง ชุมชนบางกะจะ ชุมชนบ้านปัถวี ชุมชนบ้านไม้รูด ชุมชนบ้านท่าระแนะ ชุมชนคลองใหญ่ และชุมชนเกาะหมาก ชุมชนแต่ละแห่งมีอัตลักษณ์และความโดดเด่นหรือประเด็นในพื้นที่ที่น่าสนใจต่างกัน และมีเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน เช่น ชุมชนกระแสบน จ.ระยอง มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแม่น้ำประแสเพื่อความอยู่รอดของการดำรงชีพในท้องถิ่น บ้านปัถวี จ.จันทบุรี มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมสวนผลไม้ปลอดสารเคมีเพื่อก้าวเข้าสู่วิถีพอเพียง หรือ เกาะหมาก จ.ตราด มีเป้าหมายเพื่อการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่ำต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่นำเสนอผ่าน CBT ในชุมชนเหล่านี้สร้างสรรค์บนพื้นฐานด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการแสวงหาประสบการณ์จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบทไทยดั้งเดิมหรือพื้นที่ธรรมชาติที่สงบและห่างไกล โดยใช้กิจกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวมีหลากหลายกลุ่ม เช่น FIT (foreign individual travelers) กลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มบริษัทองค์กรที่ต้องการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวพิเศษในพื้นที่ชุมชนเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ให้แก่พนักงานหรือลูกค้า หรือต้องการจัดกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
นางสาวศรีพิจิตต์ เติมชัยเจริญศักดิ์ อุปนายก สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) กล่าวว่า กิจกรรมในชุมชนหล่านี้มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ทั้งกิจกรรมเชิงธรรมชาติ ผจญภัยและวิถีชีวิตวัฒนธรรม อาทิ การล่องเรือเพื่อชมวิวและดูตัวตะกองหรือลั้ง (กิ้งก่ายักษ์) ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มของกอไผ่ตลอดลำน้ำตะกอง (Indochinese Water Dragon) เป็นกิ้งก่ายักษ์ชนิดเดียวที่พบในประเทศไทยและพบได้เฉพาะในภาคตะวันออกของประเทศเท่านั้น (รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบอินโดจีน (ลาว เขมร เวียดนาม)
การเข้าไปสัมผัสป่าชายเลนดึกดำบรรพ์ที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตราดซึ่งยังคงมีความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้ความรู้สึกแบบดิบ ๆ ที่ชุมชนท่าระแนะและชุมชนไม้รูด ชมวิวและได้เห็นถึงวิถีชีวติของชาวประมงพื้นบ้านและร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งอาหารของชุมชนที่สำคัญนี้ให้ยั่งยืนตลอดไป ขากลับนั่งเรือชมหิ่งห้อยสองข้างทางสัมผัสความสวยงามของแสงธรรมชาติ
ทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของตราดผ่านอนุสรณ์ที่สำคัญ “ศาลาราชการุณย์” บอกเล่าเรื่องราวของสงครามกลางเมืองในเขมรและมนุษยธรรมที่ไร้พรมแดนระหว่างสองประเทศได้อย่างน่าประทับใจ สถานที่ตั้งซึ่งสวยงามบนชายฝั่งทะเลของบ้านไม้รูดนี้เคยเป็นค่ายอพยพและมีเรื่องราวมากมายให้เราได้เรียนรู้และซาบซึ้งใจ
สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ศาลเจ้าแม่ทับทิมคลองใหญ่จัดสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่พอประมาณได้จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีกว่ามาแล้ว โดยองค์เจ้าแม่ลอยน้ำมาบริเวณทะเลอำเภอคลองใหญ่ ชาวบ้านร่วมกันอัญเชิญองค์เจ้าแม่ซึ่งเป็นไม้แก่นจันทร์แกะสลักเป็นรูปผู้หญิงขึ้นจากทะเลและได้ร่วมกันสร้างศาลให้เจ้าแม่ เจ้าแม่ทับทิมเป็นที่นับถือและศรัทธามาแต่ช้านาน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอคลองใหญ่ทั้งยังเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ขอพรตามความเชื่อของพี่น้องชาวประมงอีกด้วย ด้วยแรงศรัทธาขอพรทำมาหากิน ขอโชคขอลาภ ซึ่งกิตติศัพท์ของความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าแม่ทับทิมคลองใหญ่นี้ได้ขจรขจายไปสู่ที่ต่าง ๆ ทำให้มีผู้ที่เคารพเลื่อมใสในองค์เจ้าแม่ นำเครื่องเซ่นไหว้มาเป็นประจำทุกวันจนเป็นกิจวัตรประจำวันของศาลเจ้าแม่ฯแห่งนี้
สัมผัสความงามสามวัฒนธรรม ความงามข้ามพรมแดนของชุมชนชาวคลองใหญ่ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและผสมผสานกันอย่างลงตัวจากคนสามวัฒนธรรมไทย จีน และญวน สนุกสนานกับการเรียนรู้ของวิถีชีวิต อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน สนุกต่อกับการเดินหรือปั่นจักรยานเที่ยวเวิ้งประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ของจันทบุรีอย่างชุมชนบางกะจะ หรือการเดินทอดน่องเที่ยวชมชุมชนตลาดคลองใหญ่สงบและสะอาดอย่างน่าประทับใจในจังหวัดชายแดนอย่างตราด
ชมความงามอันน่าอัศจรรย์ของระบบนิเวศป่าชายเลนเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่หมู่บ้านท่าระแนะ ป่าชายเลน 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยว Unseen แห่งจังหวัดตราด ความมหัศจรรย์อยู่ตรงที่การนั่งเรือไปลานตะบูน 10 นาที เราจะผ่านช่วงป่าในคลองถึง 3 ป่า คือ ป่าโกงกาง ป่าจากและป่าตะบูน สิ่งที่ทำให้ป่าตะบูนแห่งนี้มีความอัศจรรย์คือ รากของต้นตะบูนที่ขึ้นอยู่ตามพื้นจำนวนมากที่ทำให้ลานตะบูนแห่งนี้มีความสวยงามและให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์
เที่ยวชุมชนบ้านปัถวีฟังบรรยายธนาคารผึ้งชันโรง ชมสวนผลไม้ด้วยสามล้อเครื่อง เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของผึ้งในการทำสวนเกษตรอินทรีย์ ชมและชิมผลไม้สด ๆ จากเกษตรอินทรีย์ปัถวีโมเดลไปเที่ยวต่อที่ชุมชนบ้านจำรุง นั่งรถรางเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวสวนผลไม้ และเที่ยวชมป่าชายเลน “สะพานรักษ์แสม” ซึ่งเป็นสะพานที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างไม้ข้ามไปอีกฝั่ง เพื่อเดินทางไปดูแลคอกปูแสม พันธุ์สัตว์น้ำและป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และมีการเปลี่ยนมาสร้างเป็นสะพานแขวนที่สวยงามมีความยาว 80 เมตรเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติไม่ขวางทางเรือที่สัญจรไปมา พร้อมทั้งยังสร้างสะพานเดินชมป่าชายเลนยาว 90 เมตร เพื่อชมความงามตามธรรมชาติของริมคลองสองฝั่ง ต้นโกงกางและต้นแสมอายุกว่า 100 ปี
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) กล่าวว่า ด้วยความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย จึงเป็นตัวเลือกระดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อพท. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนทุกภาคีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงบูรณาการเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับประเทศ และส่งต่อศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกของประเทศไทยสู่ระดับสากล ตลอดจนสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่คนในชุมชนท้องถิ่นโดยตรง
อพท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเลือกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อร่วมเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปกับชุมชนท้องถิ่น “เพราะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเพื่อความสนุก แต่เป็นการค้นหาความสุขอย่างแท้จริง”