“กรังด์ปรีซ์” เปิดศึกชิงเค้กอีสปอร์ตหมื่นล้าน ชูมาตรฐานการจัดแข่งระดับสากล
บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ประกาศชิงเค้กตลาดอีสปอร์ตหมื่นล้าน หลังประเดิมสนามแรกกับการแข่งขัน GP e-racing ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เน้นมาตรฐานการจัดการแข่งขันใกล้เคียงกับ FIA Certified Gran Turismo Championships ของ FIA หวังพัฒนานักกีฬา e-racing สู่ระดับโลก
นายอโณทัย เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “การที่บริษัทสนใจขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดอีสปอร์ต ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทเล็งเห็นว่า อีสปอร์ตเป็นกีฬายอดนิยมของทั่วโลกในยุคปัจจุบัน โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้วงการเกมออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยเองจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ประมาณ 68 ล้านคน กว่า 30% หรือประมาณ 20 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในตลาดเกมออนไลน์ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา อีสปอร์ตในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดสูงถึง 10,000 ล้านบาท
ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของตลาดทั่วโลก ที่ทาง Newzoo ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการสำรวจตลาดเกม อีสปอร์ต และเป็นพันธมิตรและที่ปรึกษาด้านการตลาดทั่วโลก คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของรายได้ของวงการอีสปอร์ตนั้นจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 29% ในช่วงปี 2017–2020 ซึ่งจะทำให้ตลาดของวงการอีสปอร์ตมีมูลค่าสูงถึง 1.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัท ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์เกม Gran Turismo Sport (GT Sport) จากทางบริษัท Polyphony Digital นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเกมที่มีศักยภาพ มีความสมจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขับขี่ เรื่องของสนามที่ใช้แข่งขัน รวมถึงมีระบบโครงสร้างของการแข่งขันที่ชัดเจน ซึ่งรูปแบบการแข่งขันทางบริษัทฯ ใช้รูปแบบเดี่ยวกับที่ทาง FIA (Federation Internationale de l’Automobile) ได้จัดการแข่งขัน FIA Certified Gran Turismo Championships ซึ่งการจัดการแข่งขันของบริษัทฯ ได้รับการรับรองจากราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ FIA ในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักกีฬาอีสปอร์ตของไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯเชื่อว่า ทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตนั้นจะเติบโตได้อีกจากการเติบโตของตลาดเกมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผลักดันให้เป็นกีฬาเต็มตัว ขณะที่ปัจจุบันภาคการศึกษาเองก็เริ่มที่จะเปิดกว้าง และขยายหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรในวงการอีสปอร์ตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทฯ ในการที่จะต่อยอดและใช้ประโยชน์จากการเติบโตของอีสปอร์ตในไทยอีกด้วย