FORD พลิกโฉมโรงเรียนเก่าเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” แห่งแรกในเอเชีย แปซิฟิก
กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี หน่วยงานเพื่อสังคมของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประกาศการก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” หรือ FREC ในกรุงเทพฯ ซึ่งศูนย์ FREC แห่งนี้จะเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ หลายองค์กร
ศูนย์ FREC ในกรุงเทพฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และหน่วยงานเอ็นจีโอหลายองค์กร โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน กองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้จัดกิจกรรมแรกของศูนย์ FREC ในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มพันธมิตรองค์กรเอ็นจีโอและผู้คนในชุมชนได้มาพบปะกัน และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นครั้งแรก และได้รับทราบถึงโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้
“ภารกิจของกองทุนฟอร์ดมอเตอร์ คัมปะนี คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น โดยศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้” ไมค์ ชมิดท์ ผู้อำนวยการ การศึกษาและการพัฒนาประชาคมโลก กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “ศูนย์ FREC ทั่วโลก จะเป็นสถานที่เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและความช่วยเหลือตามความต้องการและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้ ศูนย์ FREC ยังมีหน่วยงานพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมซึ่งเรามุ่งหวังที่จะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อนำโครงการและโอกาสใหม่ๆ ส่งต่อให้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้”
ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ริเริ่มขึ้นโดยกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ที่จะรวมหน่วยงานพันธมิตรที่ไม่แสวงกำไรมาทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมชุมชนโดยรอบและช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการเปิดศูนย์ FREC แห่งใหม่นี้เป็นการต่อยอดศูนย์ FREC ที่มีอยู่อีก 2 แห่งในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา และศูนย์ FREC ประเทศแอฟริกาใต้ (พ.ศ.2560) และเมืองไครโอวา ประเทศโรมาเนีย (พ.ศ.2561)
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ สร้างขึ้นตามแบบของศูนย์ FREC ในเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเปิดทำการในปี พ.ศ. 2556 และได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงของชุมชน โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากกว่า 85,000 คน จากการแบ่งปันอาหาร การเตรียมการคืนภาษี การศึกษา การริเริ่มงาน และการช่วยเหลือด้านกฎหมาย
“ฟอร์ดมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ที่ฟอร์ดเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ จะช่วยผลักดันให้การทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและชุมชนของฟอร์ดในประเทศไทยก้าวขึ้นไปอีกระดับ” นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว “ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างฟอร์ดและผู้อยู่อาศัยในชุมชนในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมอย่างยั่งยืน”
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ : ศูนย์กลางการส่งต่ออาหารส่วนเกินแห่งใหม่ของเมือง
มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ เอสโอเอส ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของศูนย์ FREC จะใช้ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการดำเนินการเพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ โดยใช้รถกระบะ 5 คัน ในการรวบรวมอาหารส่วนเกินที่มีปริมาณมากถึงวันละ 2 ตัน ในแต่ละวัน จากร้านอาหาร ร้านขายของชำและโรงแรม หลังจากนั้น เอสโอเอสจะนำอาหารเหล่านี้ที่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว ไปแจกจ่ายให้กับสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและสถานสงเคราะห์กว่า 30 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ
“มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ร่วมวางแผนก่อตั้งศูนย์ FREC กรุงเทพฯ กับกองทุนฟอร์ดมานานกว่า 1 ปี และพวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการเปิดตัวศูนย์ฯ ในวันนี้” โบ โฮล์มกรีน ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ กล่าว “นอกจากสถานที่ทำการแล้ว ศูนย์ FREC ยังเป็นครัวและสถานที่ทำความสะอาด เพื่อช่วยให้เราสามารถแปรรูปอาหารที่จะนำไปบริจาคได้อย่างปลอดภัย อีกทั้ง ศูนย์ FREC ยังเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะปลูกแบบแอโรโพนิกสำหรับชุมชนในเมือง ซึ่งทางเราจะจัดแสดงเร็ว ๆ นี้ภายหลังจากย้ายเข้าไปที่ศูนย์ฯ แล้ว”
นอกจากนี้ กองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ยังได้มอบรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ คันใหม่ ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิอาหารให้แก่มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เพิ่มจากขบวนรถเก็บความเย็นที่มีอยู่เดิมของมูลนิธิ ซึ่งทั้งหมดจะจอดรับส่งอาหารประมาณ 45 ที่ในแต่ละวัน และเดินทางร่วม 500 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เอสโอเอส บริหารจัดการการเดินทางของรถเองโดยมีผู้บริจาคและคนขับรถโทรศัพท์แจ้งข้อมูลการรับส่งอาหารและสถานที่ ดังนั้น เพื่อให้การเก็บรวบรวมอาหารเป็นไปอย่างชาญฉลาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น เอสโอเอส จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามและบริหารจัดการการเดินทางของรถได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและการสนับสนุนจากฟอร์ด ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะเปิดตัวภายในปีนี้
โค-เวิร์คกิ้งสเปซขององค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของกรุงเทพฯ
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ และมูลนิธิรักสัตว์ป่า จะร่วมมือกันจัดตั้งโค-เวิร์คกิ้งสเปซหรือพื้นที่ทำงานร่วมแห่งแรกสำหรับเอ็นจีโอที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายใต้ Nature Inc ณ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ โดยองค์กรเหล่านี้สามารถใช้บริเวณสำนักงาน ห้องประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอทีอื่น ๆ ร่วมกันได้ที่ Nature Inc ซึ่งถือเป็นการลดภาระเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เพื่อจะได้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินโครงการ
“เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กหลายองค์กรที่เราทำงานด้วย มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในภาคสนาม ถึงแม้องค์กรเหล่านั้นจะต้องการสำนักงานในเมือง แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการสำนักงานแบบเต็มเวลา” แนนซี่ ลิน กิ๊บสัน กรรมการบริหาร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้ง มูลนิธิรักสัตว์ป่า กล่าว “Nature Inc ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่สำนักงานระดับมืออาชีพ แต่ยังเป็นพื้นที่ในการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหา แบ่งปันข้อแนะนำและระดมสมองเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ อีกด้วย”
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและมูลนิธิรักสัตว์ป่าจะเป็น 2 องค์กรแรก ที่เข้าไปดำเนินการในบริษัทเนเจอร์ โดยจะมีองค์กรอื่นเข้าร่วมเพิ่มเติมในระหว่างปี ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มวาฬไทย กลุ่ม New Heaven Reef Conversation Program กลุ่มบิ๊กทรี และทีมนักสื่อสารด้านธรรมชาติวิทยา ทั้งนี้ องค์กรเอ็นจีโอดังกล่าวจะต้องจัดเวิร์คช็อปหรือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและบริการต่างๆ ให้แก่ชุมชนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการใช้พื้นที่ทำงานร่วม อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรก หน่วยงานพันธมิตรของ Nature Inc จะร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เพื่อดำเนินโครงการด้านการเพาะปลูกและทำสวนในชุมชนเมือง
Bangkok 1899 : โครงการด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ช่วยเติมเต็มศูนย์ FREC กรุงเทพฯ
Bangkok 1899 คือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่เป็นจุดรวมของศิลปะ การออกแบบ วิถีชีวิตในเมือง และนวัตกรรมทางสังคม เป็นหน่วยงานเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ข้างศูนย์ FREC และจะเปิดตัวในเดือนหน้านี้ โครงการดังกล่าวจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมโครงการอื่น ๆ ของศูนย์ FREC โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟอร์ด และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร RSA
สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ถูกออกแบบโดย มร. มาริโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2442 และเคยเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี บิดาการศึกษาสมัยใหม่ของไทย โดยศูนย์ FREC ได้ก่อตั้งขึ้นบนที่ดินของโรงเรียนซึ่งตระกูลของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นเจ้าของ
“โครงการ Bangkok 1899 และศูนย์ FREC มีความเชื่อเดียวกันว่าการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ทั้งในระดับบุคคลและส่วนร่วมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาสังคมให้สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้” ซูซานนา ตันเต็มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร องค์กรครีเอทีฟไมเกรชัน ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหาร Bangkok 1899 กล่าว “เป้าหมายของการเปิดตัวของทั้ง 2 ศูนย์นี้คือการเป็นหนึ่งในจุดหมายที่สำคัญที่สุดในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ พวกเราจะรวบรวมประชาชน ศิลปิน ผู้คิดค้นนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และนักคิด เพื่อร่วมมือกันคิดหาวิธีรับมือกับความท้าทายของคนไทยในยุคศตวรรษที่ 21”
โครงการ Bangkok 1899 นี้ยังรวมถึงโครงการให้ที่พักแก่ศิลปินนานาชาติ การจัดงานอีเวนท์ โอเพ่นสเปซหรือพื้นที่เปิดบรรยากาศธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ และคาเฟ่ไร้ขยะที่ส่งผลต่อสังคม ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผสมผสานเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบไปพร้อมกับฟาร์มในชุมชนเมืองขนาดเล็ก โครงการพัฒนาสัมพันธภาพของ RSA หรือ RSA Fellowship Development และงานอีเวนท์ระดับโลก เช่น งานประจำปีเกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคม ศิลปะ และการออกแบบ
สำหรับนักดนตรีคนแรกที่จะเข้าไปพำนักคือ เชน พี คาร์เตอร์ นักดนตรีชื่อดังจากเมืองดะนิดิน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งกำลังร่วมงานกับ อานนท์ นงเยาว์ ศิลปินด้านเสียง และปิย์นาถ โชติกเสถียร กลัดศิริ นักดนตรีหมอลำ Bangkok 1899 มีกำหนดเปิดตัวในต้นกุมภาพันธ์นี้ โดยนำเสนอการแสดงจากเชนและเพื่อน ๆ ศิลปิน