web analytics

ติดต่อเรา

“กองทุน”เคียงข้างไทย” เดินหน้าแก้ปัญหาป่าไม้ น้ำหลากและน้ำแล้ง สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นปีที่ 4 และได้ขยายการดำเนินงานสู่พื้นที่ลุ่มน้ำยมปีนี้เป็นปีแรก พร้อมจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ “สร้างฝายหินก่อและฝายชะลอน้ำ” เพื่อบริหารจัดการน้ำในตำบลแม่จั๊วะ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ กองทัพภาคที่ 3  ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจังหวัดแพร่ ณ อ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะและลำห้วยหีด จังหวัดแพร่ เพื่อแก้ปัญหาป่าไม้ น้ำแล้ง และน้ำท่วม  สร้างความสมดุลน้ำให้แก่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้ เป็นการรวมพลังจิตอาสาของเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ กองทัพภาคที่ 3  ร้านผู้จำหน่ายและกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในจังหวัดแพร่ เพื่อฟื้นฟูลำห้วยหีดซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของลำห้วยแม่จั๊วะ โดยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 5 ฝาย ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ป่าต้นน้ำ รวมทั้งฝายหินก่อขนาดใหญ่จำนวน 1 ฝาย เพื่อช่วยดักตะกอนและชะลอน้ำหลากที่ทำให้เกิดปัญหาดินโคลนถล่มไหลเข้าอ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะ ทำให้ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดน้อยลง โดยคาดว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลากที่ประสบมากว่า 10 ปี รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนให้แก่ชุมชนตำบลแม่จั๊วะ ส่งผลให้ประชากร 243 ครัวเรือนมีน้ำสำรองใช้เพิ่มขึ้น 61,000 ลบ.ม. สำหรับการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรบนพื้นที่ 4,000 ไร่”

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง  สำหรับในปีนี้ได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ในพื้นที่ต้นน้ำยม ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ในขณะที่พื้นที่ต้นน้ำมีอ่างเก็บน้ำ มากกว่า 200 อ่าง และขาดการดูแลรักษา ตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ และระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อีกทั้งลุ่มน้ำยมขาดการบริหารจัดการน้ำและสำรองน้ำ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 10% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี)”

ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมสูงถึง 2,214 ล้าน ลบ.ม. หรือสนองตอบความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทางมูลนิธิจึงมีแนวทางในการพัฒนาใน 2 ด้าน คือ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้มีน้ำเติมแหล่งเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างน้ำเดิมให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนการฟื้นฟูลำน้ำสาขา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ องค์บริหารส่วนจังหวัดแพร่ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กองทัพบก กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาที่ดิน และกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย”

สำหรับโครงการ “พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำยม” เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) ดำเนินงานใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1) พื้นที่ต้นน้ำ ในตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีเป้าหมายในการพัฒนาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภคและบริโภค 2) พื้นที่กลางน้ำ ประกอบด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และ 2.บ้านป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภค บริโภคและเกษตร และ 3) พื้นที่ปลายน้ำ ใน ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *