web analytics

ติดต่อเรา

เช็คอิน “สตรีทอาร์ต” 16 ชิ้นทั่วกรุงฯ

ใครที่ผ่านไปแถวย่านเจริญกรุงคงได้สะดุดตากับชิ้นงานศิลปะที่ซ่อนตัวอยู่ตามตรอกซอกซอยในย่านนั้น ซึ่งศิลปะแต่ละชิ้นมาจากคอนเซ็ปต์เดียวกันนั่นก็คือ “การสะท้อนปัญหาเด็กในประเทศไทย” ยูนิเซฟริเริ่มโครงการ “อาร์ต ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์” ร่วมมือกับศิลปินไทย 16 คนมาเปล่งเสียงแทนเด็ก ๆ ผ่านงานศิลปะของพวกเขาที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร นี่ไม่ใช่เพียงงานศิลปะที่สวยงามเพียงฉาบหน้าเท่านั้น ในแต่ละงานมีนัยยะที่สะท้อนถึงปัญหาของเด็ก ๆ และวัยรุ่นในประเทศไทย ภายใต้ประเด็นปัญหาต่าง ๆ อาทิ ปัญหาการล่วงละเมิดในเด็ก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาในวัยรุ่น และปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยสำหรับพัฒนาการในเด็กเล็ก วันนี้เราจะตามไปเช็กอินส่องงานอาร์ตทั้ง 16 ชิ้นทั่วกรุงฯ ปักหมุดเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ปัญหาของเด็ก ๆ ในประเทศไทยกัน 

 

เช็กอินจุดที่ 1 Yelo House

ลงสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ เดินต่ออีกเล็กน้อยไปยังซอยเกษมสันต์ 1 มีโกดังเก่าที่ถูกรีโนเวทให้เป็นสเปซสำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะและแหล่งพบปะสังสรรค์สำหรับผู้มีไอเดีย คุณจะพบผลงานศิลปะของโครงการ “อาร์ต ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์” 4 ชิ้นด้วยกัน คือ 

ปลายสายรุ้ง (over the rainbow) ที่ ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา ตั้งใจ paint ให้ดู surreal ให้คนดูได้ใช้จินตนาการในการดู ตีความในแบบของตัวเองได้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวิธีคิดแบบไม่คิดมาก ไม่มีกรอบ ในการสร้างงานศิลปะของเด็กเล็ก ซึ่งต้องการบอกเล่าถึงความสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ซึ่งพ่อกับแม่ควรเล่นกับลูก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูกอีกด้วย

เธอกับฉัน (The Dream of Education) ผลงานศิลปะบนผ้าแคนวาสของ ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา สะท้อนปัญหาอันน่ากังวลของวัยรุ่นไทยที่มีอัตราการคลอดบุตรก่อนวัยอันควร (15-19 ปี) คิดเป็น 51 ต่อ 1,000 ราย (ใน 20 คน จะมีเด็กวัยรุ่นมีบุตร 1 คน ซึ่งหมายความว่า ประมาณทุก ๆ ชั้นเรียนจะพบเด็กนักเรียนหญิงมีบุตร 1 คน) อัตรานี้จะยิ่งสูงมากขึ้น ในกลุ่มวัยรุ่นจากครอบครัวยากจน และมีการศึกษาไม่สูง

คนช่างฝันไม่ได้มีเพียงแค่ฉัน (You May Say I’m a Dreamer, But I’m Not The Only One) โดย พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล ใช้เทคนิค Augmented Reality technology บนผ้าใบ ต้องการให้ทุกคนได้เห็นว่าเด็กทุกคนมีความฝัน แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ‘โอกาสที่เท่าเทียม’ เพราะยังมีเด็กอีกกว่า 15% ที่ตกหล่น ไม่ได้เข้าถึงบริการพัฒนาการปฐมวัย

ฉันไม่อยากเล่น (I’m not going to Play) ผลงานของ ดริสา ริเอธี การพจน์ ที่ต้องการรณรงค์เรื่องความรุนแรงในเด็ก เพราะทุกวันนี้มีเด็กมากกว่า 10,000 คน ถูกกระทำรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นการกระทำรุนแรงทางเพศ ซึ่งไม่ควรมีเด็กคนใดต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว และเด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง

 

เช็กอินจุดที่ 2 Woof Pack

อินกันต่อไม่มีหยุดกับ stop ต่อไป Woof Pack ย่านพระรามสี่ จัดแสดงผลงานของ 3 ศิลปินที่ไปถึงแล้วจะต้องสะดุดตากับงานศิลปะขนาดใหญ่บนกำแพง The Silence of Danger All Around ของ ปกรณ์ ธนานนท์ กราฟฟิตี้เด็กที่อยู่ตรงกลางซึ่งตัวเด็กเองไม่รู้ว่ารอบล้อมไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีความรุนแรงแอบแฝงเข้ามามากมาย ทั้งโซเชียลและเกมส์ ซึ่งเป็นช่องทางการข่มเหงรังแกบนโลกออนไลน์ (cyber bullying) การรังแกโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในการใส่ความ กล่าวหา ให้ถูกเข้าใจผิด หรือทำให้เด็กได้รับความอับอาย

Next Generation สีอะคริลิคและสีสเปรย์บนกำแพง ที่ Jayoto-อุทิศ โพธิ์คำ ต้องการสื่อให้เห็นว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยทางวาจาหรือทางร่างกาย ถือว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อตัวเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ และอาจส่งผลต่อการเข้าสังคมของเด็กในอนาคต หรืออาจทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น กระทั่งเกิดการสืบทอดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงไปสู่รุ่นต่อไป การอบรมสั่งสอนเด็กด้วยความรักความเข้าใจ คุยกันด้วยเหตุและผล จะทำให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้คำสอน มีกำลังใจ และเติบโตด้วยความรักและความเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การลงโทษด้วยความรุนแรง

Destination ผลงาน installation ของ ปรัชญพร วรนันท์ ที่ร่วมรณรงค์เรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติ จากการประเมิน มีเด็กข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยหลายแสนคน และครึ่งหนึ่งในนี้ไม่ได้เข้าโรงเรียน จึงได้เชื่อมโยงรูปทรงของแคมป์หรือค่ายผู้อพยพซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความหวัง การรอคอย และพื้นที่ปลอดภัย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนสภาวะชั่วคราว ซึ่งเป็นรอคอยการเปลี่ยนผ่าน และโอกาสเพื่อก้าวไปสู่จุดต่อไป สถานที่พักชั่วคราวอาจเป็นทั้งบ้านใหม่ สถานที่เล่น และสถานที่เรียนรู้ของเด็ก ๆ อีกหลายคนซึ่งกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์นี้ ศิลปินอยากจะให้ผลงานชิ้นนี้แทนความหวังในการอดทนในชีวิต แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและพลังของจินตนาการที่อาจเป็นส่วนสำคัญในการเยียวยา รวมถึงเป็นตัวแทนคำขอบคุณความตั้งใจของบุคคลทุกคนซึ่งมีส่วนร่วมช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้

 

เช็กอินจุดที่ 3 แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์มักกะสัน

จุดนี้จัดแสดงผลงานปัญหาเด็กสองชิ้นด้วยกัน เริ่มจาก ห้องเรียนภาพหุ่นนิ่ง (Still Life Class#1) สีอะคริลิคบนผ้าใบโดย พีรเวทย์ กระแสโสม ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวันของศิลปินที่สอนหนังสือให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในสถานที่ควบคุมพิเศษ บ้านมุทิตา โดยหยิบภาพวาด Sunflower ของ แวน โกะห์ มาศึกษาและตีความใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มหนึ่งได้ร่วมสร้างผลงานด้วยกัน เปิดโอกาสให้แสดงออกทางศิลปะอย่างเต็มที่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนการมีสิทธิ์มีเสียงของเด็กในสังคมปัจจุบันที่มักไม่ค่อยถูกรับฟัง และไม่ถูกเปิดโอกาสให้มีสิทธิออกเสียงถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรงก็ตาม

ในพื้นที่เดียวกัน ผลงานสีอะคริลิคบนหนังสือพิมพ์ของ ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ที่ชื่อว่า ความหวัง (Hope) ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน และปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี เพราะในปัจจุบันยังมีเยาวชนมากกว่า 50% ที่มีความรู้ที่ผิดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี ทั้งอัตราการติดเชื้อเคสใหม่ ๆ นั้น 70% ยังเกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชน

 

เช็กอินจุดที่ 4 ย่านเจริญกรุง

พิกัดนี้มีผลงานศิลปะ 6 ชิ้น กระจายตัวอยู่ตามซอยต่าง ๆ เริ่มจาก เจริญกรุง 31 ผลงาน มหาลัยชีวิต  (Universal of Life) สีสเปรย์ขนาดใหญ่ทอดตัวอยู่ตามแนวยาวของกำแพง ของศิลปิน ชาญณรงค์ ขลุกเอียด ต้องการรณรงค์เรื่องการไม่มีโอกาสทางการศึกษา จากการประเมินข้อมูลเชิงสถิติพบว่ามีเด็กวัยมัธยมประมาณ 700,000 คนไม่ได้เรียนหนังสือต่อ

จักรกฤษณ์ อนันตกุล ได้ฝากผลงาน Book เอาไว้บนกำแพงในซอย เจริญกรุง 32 ย่านท่าเรือสี่พระยาใกล้กับสถานทูตโปรตุเกส ด้วยคอนเซปต์ง่าย ๆ คือ “เด็กทุกคนต้องการหนังสืออย่างน้อย 3 เล่ม” เพราะเด็กในครัวเรือนยากจนจำนวนมากไม่เคยได้อ่านหนังสือส่งผลกระทบต่อพัฒนาการช่วงปฐมวัยหลาย ๆ ด้าน 

ต่อกันด้วย แยกมหาเศรษฐ์ กาลครั้งหนึ่งวันเด็ก (Childhood’s Time) ของ พิเชษฐ์ รุจิวรารัตน์ งานศิลปะบนกำแพงที่สะท้อนปัญหาการขาดโอกาสของเยาวชนในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ นั้น อาจทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาจากความท้าทายต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน อันส่งผลให้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ

ต่อกันมาที่ ศิลปะละมุนละไมบนกำแพง เจริญกรุง 41 ผลงาน Education for All ของ น้ำน้อย ปรียศรี พรหมจินดา ที่สื่อถึงช่องว่างทางภาษาที่กลายเป็นสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้คือเด็กชาติพันธุ์ และเด็กที่พูดภาษามลายูในภาคใต้ การไปโรงเรียนของเด็กกลุ่มนี้เป็นเหมือนการไปต่างประเทศ เพราะเด็กทำความเข้าใจการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างยากลำบาก และไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูด เด็กกลุ่มนี้มักมีแนวโน้มลาออกกลางคัน และมีผลการเรียนต่ำ 

เดินทางต่อมาที่ ออเรียนทัล เฮอริเทจ เรสซิเดนซ์ กำแพงด้านหนึ่งมีภาพเด็กขาวดำเปรียบเสมือนเด็กที่รู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยว และน้ำตาคือความเจ็บปวด โดยรอบข้างเป็นเหมือนสีสัน ที่เด็กยังขาดหายไปและรอมาแต่งแต้มเติมเต็ม นั่นคือภาพ เด็กร้องไห้ ผลงานของ ทศพร เหมือนสุวรรณ สะท้อนปัญหาเด็กเล็กถูกทอดทิ้ง ไม่น่าเชื่อว่ายังมีเด็กอายุ 0-17 ปี ประมาณกว่า 3 ล้านคนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่

และพบกับจุดสุดท้าย เจริญกรุง 40 สีอะคริลิคบนกำแพงของ ศุภิสรา เปรมกมลมาศ ที่ชื่อว่า #วาระนมแม่แห่งโลก ที่ต้องการรณรงค์ปัญหาเรื่องนมแม่ เพราะในประเทศไทยอัตราการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่เพียง 23% เท่านั้น ประโยชน์ของนมแม่ ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และสัมผัสที่แม่มีให้ต่อลูกน้อยอีกด้วย

 

เช็กอินจุดที่ 5 พระนคร บาร์

ผลงาน พลาด (Error) ของ สยาม เนียมนำ โดดเด่นอยู่บนตึกเป็นภาพชีวิตของเด็กสาวที่ไม่ได้สวยงามอย่างที่คาดหวังไว้ จากการท้องในวัยที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีความพร้อมหรือโดยไม่ตั้งใจ ผลงานชิ้นนี้ต้องการรณรงค์ปัญหาท้องก่อนวันอันควร ปัญหานี้มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี วัยรุ่นเฉลี่ยอย่างน้อย 1 แสนคนตั้งครรภ์ในวัยเรียน ดังนั้น การผลักดันให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาแบบรอบด้านในสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการทำงานในระดับนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย และมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น และการสนับสนุนต่าง ๆ ที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ เช่น สนับสนุนให้เยาวชนที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อ การบริการทางสุขภาพที่เหมาะสม และการฝึกฝนอาชีพ เป็นต้น 

นอกจากการเช็กอินเสพงานศิลป์ในสถานที่เหล่านี้แล้ว คุณสามารถลงชื่อเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของเด็ก ๆ ได้ที่นี่ https://www.unicef.or.th/70years และชื่อของคุณจะไปปรากฏอยู่บนผลงานศิลปะหนึ่งใน 16 ชิ้นนี้ เพราะเพียงแค่คุณรับรู้และตระหนักถึงปัญหาเด็กในประเทศไทย เท่านี้ก็เท่ากับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณจะยืนหยัดช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านั้น และนำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาต่อไป ชื่อของคุณมีพลังมากกว่าที่คุณคิด

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *