web analytics

ติดต่อเรา

10 ข้อควรรู้ในการใช้ Internet Banking

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Internet Banking หรือ e-banking เป็นอีกหนึ่งบริการที่ธนาคารทุกแห่งต้องมีเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินให้กลับลูกค้า เช่น ฝาก ถอน โอน จ่ายบิล สอบถามยอดบัญชี ชำระค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน แถมยังได้รับบริการที่รวดเร็วทันใจเพียงแค่คลิกผ่านแอปพลิเคชัน จึงเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่ภายใต้ความสะดวกสบาย ก็มาพร้อมกับภัยลับๆ จากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดี ที่พยายามหาช่องทางโจมตีและเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้งาน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้หากเราไม่รู้จักทันระวัง ล่าสุดโครงการ Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดเสวนาให้ความรู้เบื้องต้นการใช้งาน Internet Banking อย่างรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อที่อาจทำให้เสียหายทั้งต่อตนเองและทรัพย์สิน สรุปกันง่าย ๆ ตามนี้เลย

1.พิมพ์ชื่อเว็บธนาคารเอง

เมื่อต้องการเข้าใช้งาน Internet Banking ผ่าน Web Browser ควรพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ไม่ควรใช้ Google ในการค้นหาเว็บไซต์ของธนาคาร เพราะบางครั้งอาจมีผู้สร้างเว็บปลอมทำให้เข้าใจผิด และอาจถูกหลอกเอาข้อมูล (Phishing) จากการลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานไปใช้ได้

2.สังเกตและใช้งานเว็บที่นำหน้าด้วย HTTPS

เว็บไซต์ที่ปลอดภัยในช่อง URL ที่ใส่ที่อยู่จะต้องนำหน้าด้วย https:// และมีรูปแม่กุญแจเสมอ เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นเว็บไซต์ของจริงจากธนาคารและมีการเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยในการใช้งาน

3.ตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย

เก็บรักษารหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) รหัสผ่าน (Password) และรหัสรักษาความปลอดภัย (Security Password) ไว้เป็นความลับ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ โดยตั้งรหัสผ่านที่บุคคลอื่นคาดเดาได้ยาก เช่น ใช้ตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรพิเศษ และตัวเลข หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านโดยใช้ข้อมูลส่วนตัว

4.ข้อมูลส่วนตัวคือความลับ

ไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเอง เช่น รหัสชื่อผู้ใช้บริการ รหัสผ่าน รหัสเอทีเอ็ม หมายเลขบัตรเครดิต รหัสบัตรเครดิต หมายเลขบัญชี หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางอีเมล์ใด ๆ

5.ออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งาน

คลิกออกจากระบบ (Log out) ทุกครั้ง เมื่อเลิกใช้อีเมล์หรือทำรายการทางการเงินเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อป้องกันการถูกเจาะข้อมูลจากผู้ไม่หวังดี

6.ใช้งาน Internet Banking บนอุปกรณ์ส่วนตัวเท่านั้น

หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น เช่น คอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ต โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น เนื่องจากอาจไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ และหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมโดยใช้เครือข่าย WiFi สาธารณะ เพราะอาจถูกแฮกเกอร์จารกรรมข้อมูลได้

7.อย่าหลงเชื่ออีเมล์หลอกลวง

หากได้รับอีเมล์แจ้งเตือนว่าให้รีบทำการ Log in Internet Banking ตามลิงก์ที่แนบมาในเมล์ มิเช่นนั้นเงินในบัญชีของท่านจะถูกยึด หรือบัญชีจะโดนระงับ อย่าตกใจและหลงเชื่อโดยเด็ดขาด เพราะธนาคารไม่มีนโยบายการแจ้งผ่านอีเมล์ จงอย่าคลิกลิงก์ และลบเมล์นั้นทิ้งไปทันที รวมถึง หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ (link) ที่แนบมากับอีเมล์ที่ไม่ทราบชื่อผู้ส่ง หรืออีเมล์ที่ขอข้อมูลส่วนบุคคล เพราะอาจมีโปรแกรมสอดแนม (Spyware) แนบมากับลิงก์เหล่านั้นเพื่อการโจรกรรมข้อมูล

8.รู้ทุกความเคลื่อนไหวของบัญชีด้วย SMS

ควรสมัครบริการ SMS แจ้งเตือนเงินเข้า-ออกทุกยอดการใช้จ่าย เพื่อให้ทราบการทำธุรกรรมได้ทันที และหมั่นตรวจสอบความถูกต้องของรายการที่ทำธุรกรรม และยอดเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรายการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

9.ปลอดภัยอีกขั้นด้วยอีเมล์แจ้งเตือน

สมัครบริการอีเมล์แจ้งเตือนผูกติดกับบัญชี เพราะทางธนาคารจะมีข้อมูลที่ละเอียดมากกว่า SMS เพื่อให้ทราบว่า เงินออกไปเมื่อใด ไปยังบัญชีของใคร (ชื่อ-นามสกุล) เลขที่รายการ เป็นต้น

10.ใช้งาน Internet Banking ด้วยสติ

ใช้งานธนาคารออนไลน์อย่างมีสติ ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ตรวจสอบจำนวนเงิน บัญชีปลายทาง ตรวจสอบชื่อของเจ้าของบัญชีก่อนทำการโอน-จ่าย ทุกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำธุรกรรมทุกประเภท

Internet Banking มีทั้งประโยชน์และโทษในตัว ผู้ใช้ควรศึกษาและทำความเข้าใจระบบ รวมถึง ใช้สติในการใช้งานอย่างระมัดระวัง เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ประหยัดเวลาได้มากขึ้น

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *